1.ภาพรวมเศรษฐกิจ
วันที่ 13 สิงหาคม 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติไต้หวัน (DGBAS) คาดการณ์ว่า GDP ของไต้หวันในปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 5.88 ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.42 จากการคาดการณ์ของสำนักงานสถิติฯ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2564 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไต้หวันสูงขึ้นยังคงมาจากการขยายตัวของภาคการส่งออก โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งหมด 3 ประการ ได้แก่ (1) อุปสงค์ของอุปกรณ์เทคโนโลยี 5G และอุปกรณ์การสื่อสารเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก (2) กลุ่มประเทศแถบตะวันตกเริ่มผ่อนปรนมาตรการระหว่างชายแดน ทำให้การค้าเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ (3) การปรับตัวจากการทำงานและการศึกษาในรูปแบบ New Normal ซึ่งจากปัจจัยทั้ง 3 ประการ ทำให้ภาคการส่งออกของไต้หวันมีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 21.4 ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักงานสถิติฯ คาดว่าหากการขยายตัวของภาคการส่งออกไต้หวันยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 GDP ของไต้หวันอาจขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3.29
.
2.มูลค่าการส่งออกไต้หวันเพิ่มขึ้น 13 เดือนติดต่อกัน
วันที่ 9 สิงหาคม 2564 กระทรวงการคลังไต้หวัน รายงานว่า ปริมาณการส่งออกของเดือนกรกฎาคม 2564 มีมูลค่ารวม 37,950 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 และมีมูลค่าส่งออกรายเดือนสูงสุดตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นมา โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 โดยเซมิคอนตักเตอร์มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด คิดเป็นมูลค่ารวม 16,340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 โดยปลายทางที่ไต้หวันมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด ได้แก่ จีนและฮ่องกง โดยในเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 มูลค่าการส่งออกรวมไปยังจีนและฮ่องกง มีมูลค่ารวม 104,210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 42.6 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไต้หวัน
.
สำหรับมูลค่าการส่งออกรวมระหว่างไต้หวันกับกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 39,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการส่งออกรวมระหว่างไต้หวันกับสหรัฐอเมริกา คิดเป็นมูลค่า 35,030 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการส่งออกรวมกับยุโรป คิดเป็นมูลค่า 20,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการส่งออกรวมกับญี่ปุ่น คิดเป็นมูลค่า 16,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
โดยระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 ไต้หวันมีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด 365,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกในช่วง 7 เดือนของปีที่สูงที่สุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และจากสถิติดังกล่าว กระทรวงการคลังไต้หวันจึงคาดการณ์ว่าภาคการส่งออกไต้หวันจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20-25 ในเดือนสิงหาคม 2564
.
3.สถานการณ์การจ้างงาน
วันที่ 23 สิงหาคม 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติไต้หวัน (DGBAS) รายงานอัตราการว่างงานของไต้หวันเดือนกรกฎาคม 2564 โดยมีอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4.53 ซึ่งลดลงจากเดือนมิถุนายน 2564 ร้อยละ 0.27 โดยเป็นผลมาจากการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคระบาด โดยในเดือนกรกฎาคม 2564 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นรวมเป็น 11,364,000 คน
.
มากกว่าในเดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 63,000 คน ซึ่งสำนักงานสถิติฯ คาดว่าอัตราการจ้างงานจะกลับสู่สภาวะปกติในเดือนสิงหาคม 2564 แม้ว่าอัตราการจ้างงานจะเพิ่มสูงขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2564 แต่อุตสาหกรรมบางประเภท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อยู่ โดยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 กระทรวงแรงงานไต้หวัน ระบุว่า มีแรงงานกว่า 57,781 คน อยู่ในสถานะหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (Unpaid leave) ซึ่งกระทรวงแรงงานไต้หวัน ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีลูกจ้างในอุตสาหกรรมอาหารและโรงแรมต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นถึง 1,108 คน
.
จะเห็นได้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไต้หวันในเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ GDP ปีนี้ที่อาจปรับเพิ่มสูงขึ้น มูลค่าการส่งออกที่มากขึ้น หรืออัตราการว่างงานที่ลดลง ซึ่งต่างแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้เป็นอย่างดี จึงถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าไปลงทุนในไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไต้หวันนั้นมีกำลังการผลิตและส่งออกเซมิคอนดักเตอร์เป็นลำดับต้น ๆ ของโลก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้ วิธึการปรับตัวของภาคธุรกิจในไต้หวัน ที่ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 แต่ยังคงสามารถจ้างแรงงานได้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงส่งออกสินค้ามากขึ้นอีกด้วย
.
สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย