ไต้หวันมีระบบดูแลสุขภาพโดยรวมในระดับที่ดีมากของโลก แม้ในพื้นที่ที่ห่างไกลอย่างเขตภูเขาสูงและเกาะรอบนอกยังคงมีความเหลื่อมล้ําในด้านการรักษาพยาบาลอยู่ เนื่องจากทรัพยากรทางการแพทย์ยังกระจายไปไม่ถึง รัฐบาลจึงมีนโยบายที่ผลักดันระบบการรักษาพยาบาลทางไกลมาโดยตลอด
.
ในปี 2561 กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวันได้ออกกฎว่าด้วยการวินิจฉัยและรักษาโรคโดยใช้ระบบการรักษาพยาบาลทางไกลหรือโทรเวชกรรม (telemedicine) ซึ่งเป็นก้าวสําคัญของการรักษาพยาบาลทางไกลสําหรับผู้ป่วยที่อยู่ในเขตภูเขาสูง เกาะรอบนอก พื้นที่ห่างไกล และผู้ป่วยในต่างประเทศ รวมไปถึงการติดตามอาการผู้ป่วยโรคเฉียบพลันหลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยโรคเรื้อรังซึ่งพักอยู่ในศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะยาว และผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวที่บ้าน
.
นายเหย่ เฝึงหมิง (KHH) เลขาธิการสํานักงานประกันสุขภาพแห่งชาติไต้หวัน กล่าวว่า ในปี 2564 นี้ จะมีการนำระบบรักษาพยาบาลทางไกลเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพอย่างเป็นทางการ โดยจะเริ่มทดลองใช้ในพื้นที่ภูเขาสูงและเกาะรอบนอก 50 เขตก่อน คาดว่าจะมีประชาชนได้รับประโยชน์ถึง 200,000 คน สําหรับงานบริการผู้ป่วยนอกจะจํากัดเฉพาะแผนกจักษุวิทยา โรคผิวหนัง และโรคหู คอ จมูก ในขณะที่การดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินจะไม่มีการจํากัด แผนกและในอนาคตอาจขยายการบริการไปยังแผนกอื่น ๆ ต่อไป ในการตรวจผู้ป่วยแต่ละรายแพทย์จะได้รับค่ารักษา ตั้งแต่ 500 – 2,340 คะแนน ตามระดับอาการของผู้ป่วย โดย 1 คะแนน คิดเป็นเงินราว 0.9 ดอลลาร์ไต้หวัน สําหรับ ปี 2564 ได้จัดสรรงบประมาณไว้ที่ 100 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หากค่าใช้จ่ายเกินงบประมาณที่ตั้งไว้ก็อาจจัดหางบประมาณอื่น ๆ ให้เพิ่มเติม
.
สํานักงานประกันสุขภาพแห่งชาติหวังว่าในแต่ละเขตจะมีสถานพยาบาลเข้าร่วมอย่างน้อยหนึ่งแห่ง ทั้งนี้ แพทย์ของคลินิกในท้องถิ่นสามารถตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยตนเอง โดยมีแพทย์ประจําโรงพยาบาลที่อยู่ไกลออกไปร่วมวินิจฉัยและให้คําปรึกษาผ่านระบบวิดีโอซึ่งจะช่วยลดความยากลําบากของประชาชนในการไปรับการรักษาพยาบาลได้เป็นอย่างมาก
.
บทความฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางการแพทย์ของไต้หวัน ซึ่งสามารถนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ digital health และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ โดยการนำ “telemedicine” มาเป็นเครื่องมือในการให้บริการและการรักษาพยาบาลประชาชนในประเทศได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผู้ประกอบการด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ได้ทำการศึกษาแล้วนำมาสร้างสรรค์แอปพลิเคชันที่มีลักษณะพิเศษ (feature) ในการให้บริการทางการแพทย์ให้เข้ากับพฤติกรรมของทั้งชาวไทยและต่างชาติในยุค New Normal อีกด้วย
.
ที่มา
https://news.ltn.com.tw/news/life/paper/1424625
https://english.ey.gov.tw/Page/61BF20C3E89B856/bf1b62e8-4907-45a6-8596-1eb2be3eae86
.
สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย