ภาพรวมเศรษฐกิจไต้หวัน
.
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ธนาคารแห่งชาติไต้หวัน ได้คาดการณ์ GDP ของไต้หวันในปี 2564 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.75 ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.67 จากเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติไต้หวัน (DGBAS) ที่ได้คาดการณ์ว่า GDP ของไต้หวันจะโตในอัตราร้อยละ 5.88 โดยปัจจัยหลักที่ทําให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไต้หวันสูงขึ้นนั้น ยังคงมาจากการขยายตัวของภาคการส่งออก โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งหมด 4 ประการ ได้แก่ (1) การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของกระบวนการผลิตทั่วโลก อันเป็นผลมาจากการได้รับวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ที่ครอบคลุมมากขึ้นในแต่ละพื้นที่ (2) อุปสงค์ของอุปกรณ์เทคโนโลยี 5G และอุปกรณ์การสื่อสารที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก (3) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมบริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทําให้อุปสงค์ด้านการผลิตเพิ่มสูงขึ้น (4) ต้นทุนการผลิต และราคาวัตถุดิบของต่างประเทศยังคงมีราคาสูง ทําให้ไต้หวันได้เปรียบในด้านการผลิต ซึ่งจากปัจจัยทั้ง 4 ประการนี้ ทําให้ภาคการส่งออกของไต้หวัน มีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 26.9 ในเดือนสิงหาคม 2564 โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 39,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
ถึงแม้ว่าภาคการส่งออกในเดือนสิงหาคม 2564 จะมีอัตราขยายตัวลดลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับ เดือนกรกฎาคม 2564 แต่ยังคงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรายเดือนสิงหาคมสูงที่สุดของทุกปี ซึ่งธนาคารแห่งชาติไต้หวันคาดการณ์ว่า หากการขยายตัวของภาคการส่งออกไต้หวันยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2565 GDP ของไต้หวันอาจขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 3.45 ซึ่งใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติไต้หวัน ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.29
.
ภาคการส่งออกไต้หวันมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 14 เดือนติดต่อกัน
.
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 กระทรวงการคลังไต้หวัน รายงานว่าปริมาณการส่งออกของเดือนสิงหาคม 2564 มีมูลค่ารวม 39,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 และมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.9 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 โดยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (เซมิคอนดักเตอร์) มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด คิดเป็นมูลค่ารวม 15,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2363
.
ส่วนปลายทางที่ไต้หวันมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด ได้แก่ จีน และ ฮ่องกง โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมในเดือนสิงหาคม 2564 สูงถึง 16,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 42.4 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไต้หวัน
.
ด้านมูลค่าการส่งออกรวมระหว่างไต้หวันกับกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 6,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการส่งออกรวมระหว่างไต้หวันกับสหราชอาณาจักร คิดเป็นมูลค่า 5,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการส่งออกรวม กับยุโรป คิดเป็นมูลค่า 3,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการส่งออกรวมกับญี่ปุ่น คิดเป็นมูลค่า 2,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
ในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 ไต้หวันมีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด 284,420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งจากสถิติดังกล่าว กระทรวงการคลังไต้หวันจึงคาดการณ์ว่า ภาคการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 23 – 27 ในเดือนกันยายน 2564 โดยอาจมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 37,000 – 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
สถานการณ์การจ้างงานในไต้หวันเดือนสิงหาคม 2564
.
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 DGBAS ได้รายงานอัตราการว่างงานของไต้หวันเดือนสิงหาคม 2564 โดยมีอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4.24 ซึ่งลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ร้อยละ 0.29 โดยเป็นผลมาจากการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ภายในประเทศได้อย่างต่อเนื่อง และการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคระบาดลง ทําให้อุตสาหกรรมในประเทศส่วนมากสามารถดําเนินการได้ตามปกติในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และมีการจ้างงานรวม 11,400,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2564 จํานวน 35,000 คน จึงทําให้มีจำนวนคนว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2564 จํานวนทั้งสิ้น 505,000 คน หรือลดลงร้อยละ 6.31
.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาดจะผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคระบาดบ้างแล้ว แต่อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมสถานบันเทิง ยังคงไม่อนุญาตให้เปิดบริการ ตามมาตรการป้องกันโรคระบาดระดับ 2 ในขณะนี้
.
นอกเหนือจากจีน และฮ่องกงที่เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ไต้หวันยังได้ผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy) เพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุน การศึกษา และวัฒนธรรมกับกลุ่มประเทศอาเซียน เอเชียเชียใต้ รวมถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งไต้หวันได้ทำการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเซมิคอนดักเตอร์แก่ตลาดโลกได้มากขึ้น โดยเฉพาะจากสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และไทย อีกทั้งยังมีนโยบายยกเว้นภาษีรายได้ผู้ลงทุนต่างชาติที่จัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าและขนส่งสินค้าในไต้หวัน และนโยบายการลดหย่อนภาษีสำหรับการวิจัยและพัฒนา นี่จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการร่วมพัฒนา และส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปยังไต้หวัน เพื่อร่วมผลักดันการค้าห่วงโซ่อุปทาน และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในช่วงที่โลกมีอุปสงค์ด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สูงขึ้น
.
สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย