1.ภาพรวมเศรษฐกิจไต้หวันประจำเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564
.
เดือนพฤษภาคม 2564
สำนักงานสถิติแห่งชาติของไต้หวัน (The Directorate General of Budget, Accounting and Statistics – DGBAS) เปิดเผยอัตราการเติบโต GDP ของไต้หวันในไตรมาสแรก โดยมีอัตราขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 8.16 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ซึ่งอัตราการขยายตัวนี้ได้สูงกว่าที่ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติของไต้หวัน ได้คาดการณ์ไว้ในรายงานประจำไตรมาส โดยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.20 ซึ่งปัจจัยที่ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวันในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวมากกว่าที่คาด มี 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) อุปสงค์ต่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในระดับโลกสูงขึ้น 2) การลงทุนการบริโภคในประเทศไม่ชะลอตัว
.
ในภาคการส่งออก ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของไต้หวัน ระบุว่าในไตรมาสที่ 1 มูลค่าการส่งออกของไต้หวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.58 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.07 ซึ่งหากอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจไต้หวันยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระดับนี้ จะส่งผลให้ GDP ของไต้หวันในไตรมาสที่ 2-4 มีโอกาสขยายตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 5 จากที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา
.
เดือนมิถุนายน 2564
ทิศทางเศรษฐกิจของไต้หวันยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของไต้หวันคาดการณ์ว่า GDP ของไต้หวันจะขยายตัวถึงร้อยละ 5.46 โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ร้อยละ 0.82 แม้ว่าไต้หวันจะประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศ โดยมูลค่าภาคการส่งออกของไต้หวันยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ต่อสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ในระดับโลกยังคงเพิ่มขึ้น
.
2. การขยายตัวของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญแก่เศรษฐกิจไต้หวัน โดยยอดขายประจำเดือนเมษายน 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แม้ว่ายอดขายจะลดลงจากเดือน มี.ค. ๒๕๖๔ แต่ยังคงเป็นยอดขายรวมที่มากกว่าปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 16 และยังคงเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ศ. 2565 คิดเป็นร้อยละ 0.9 จากเดือนเมษายน 2564 โดยมียอดขายประจำเดือนพฤษภาคม 2564 ทั้งสิ้น 4,007 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าปีก่อนหน้าร้อยละ 19.8 โดยอุปกรณ์ชนิด HPC ( High Performance Computing) หรือ อุปกรณ์ประมวลผลประสิทธิภาพสูง เป็นสินค้าสำคัญที่เป็นที่ต้องการ ทั้งนี้ ยอดขายในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 ของ TSMC มียอดขายรวม 586,090 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 17.1
.
3. อัตราการว่างงาน
อัตราว่างงานในเดือนพฤษภาคม 2564 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.64 เมื่อเดือนเมษายน 2564 เป็นร้อยละ 4.15 ซึ่งถือว่ามากที่สุดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไต้หวัน ที่มีมาตรการปิดสถานที่ท่องเที่ยว ธุรกิจบันเทิง สั่งห้ามกิจกรรมสาธารณะ จำกัดการรับประทานอาหารภายในร้านอาหาร โดยอนุญาตให้ขายสำหรับการซื้อกลับบ้านเท่านั้น โดยมีคนว่างงานประมาณ 489,000 คน
.
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและต้องเลิกจ้างงานมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ 1) ร้านอาหารและโรงแรม ส่งผลให้มีคนว่างงานเพิ่มขึ้น 18,000 คน 2) ร้านค้าปลีกค้าส่ง มีคนว่างงานเพิ่มขึ้น 13,000 คน 3) ภาคสถานบันเทิง มีคนว่างงานเพิ่มขึ้น 7,000 คน ทั้งนี้ ตามที่ศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (CECC) ได้ประกาศขยายเวลาการใช้มาตรการการป้องกันโรคระบาดระดับ 3 ต่อไปจนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ส่งผลให้อัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้นในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2564
.
ในส่วนของประเทศไทย ภาคการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2564 เติบโตสูงสุดในรอบ 11 ปี ซึ่งขยายตัวกว่า 44% ในอุตสาหกรรมกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมหนัก โดยมีปัจจัยมาจ้างการฟื้นตัวและความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรติดตามมาตรการและภาพรวมเศรษฐกิจในไต้หวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการในการส่งออกและนำเข้าได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ ที่ไต้หวันมีประสิทธิภาพและกำลังการผลิตเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
.
สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย