โรคอัลไซเมอร์ (Azheimer) เป็นรูปแบบหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมทั่วโลกมีจำนวนกว่า 50 ล้านราย และเพิ่มขึ้นเกือบ 10 ล้านรายต่อปี โดยโรคอัลไซเมอร์เกิดจากการสะสมของโปรตีนที่เรียกว่า อะไมลอยด์ (Amyloid) ในสมองของผู้ป่วย และเข้าไปทำลายเซลล์ประสาท (Neurons) ให้เสื่อมและฝ่อลง ทำให้สูญเสียความทรงจำทีละน้อย และเกิดความบกพร่องในการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด และความสามารถในการใช้ภาษาและวางแผน
.
โดยไม่นานมานี้ บริษัท Neurimmune ซึ่งก่อตั้งโดยนักวิจัยจากสถาบันเวชศาสตร์ฟื้นฟูของมหาวิทยาลัยซูริก ได้ร่วมกับบริษัท Biogen ของสหรัฐอเมริกา และบริษัท Eisai ของญี่ปุ่น ทำการวิจัยและนำเทคโนโลยี Reverse Translational Medicine มาใช้ในการพัฒนาสารประกอบ Aducanumab จากแอนติบอตี้โมโนโคลนอล (Monoclonal antibody) ซึ่งจะลดอะไมลอยด์ในเนื้อเยื่อสมองของผู้ป่วย และช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ โดยผลการทดลองทางคลินิกพบว่าสารประกอบ Aducanumab สามารถลดอะไมลอยด์ในสมองตามปริมาณและระยะเวลาที่ใช้ในการทดลองรักษา โดยลดลงได้ร้อยละ 59 – 71 จากการใช้สารดังกล่าวเป็นเวลา 18 เดือน และเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US Food and Drug Administration: FDA) ได้อนุมัติการใช้ยาAduhelm ซึ่งมี Aducanumab ประกอบอยู่ในยาดังกล่าวด้วย เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โดย FDA ระบุว่า การอนุมัติให้ใช้ยาดังกล่าวเพราะคำนึงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคมากกว่าความเสี่ยงของยาจากการที่ผลการทดลองทางคลินิกยังจำกัดและไม่มีความแน่นอน โดยที่ปรึกษาอาวุโสด้านคลินิกของบริษัท Neurimmune เห็นว่า การอนุมัติการใช้ยานี้ เป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ครอบครัวของผู้ป่วย และสังคมโดยรวม
.
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมยาและการรักษาโรค ซึ่งประเทศไทยนั้นมีความพร้อมทั้งทางโครงสร้างและบุคลากรในการพัฒนา โดยผู้ประกอบการสามารถพิจารณานำศาสตร์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านความร่วมมือกับต่างประเทศ ดังเช่นบริษัทในสวิตเซอร์แลนด์ มาเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ดียิ่งขึ้นต่อไปได้
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น