การบริหารจัดการขยะพลาสติก การทำความสะอาด การคัดเเยกเเละระบบการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลสวิตเซอร์เเลนด์ทำให้ภาพกองภูเขาขยะเป็นสิ่งที่ไม่พบเห็นมากนัก ถึงกระนั้นก็ดีจำนวนขยะต่อประชากรในประเทศสวิตเซอร์เเลนด์มีจำนวนสูงเป็นอันดับ 4 ของทวีปยุโรปในอัตราประมาณ 100 กก. ต่อคนซึ่งมากกว่าอัตราเฉลี่ยของยุโรปถึง 3 เท่า อีกทั้งเป็นประเทศที่มีการนำขยะพลาสติกไปรีไซเคิลน้อยกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคโดยส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เเล้วทิ้งทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรเเละเป็นอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศเเละสิ่งเเวดล้อม เช่น เเหล่งนำ้
.
ในปี 2561 องค์กร Oceaneye ได้นำตัวอย่างนำ้ 14 จุดในทะเลสาบเจนีวามาวิเคราะห์ ผลสำรวจพบว่าปริมาณไมโครพลาสติกขนาด 1 – 20 มม. อยู่ในอัตรา 129 กรัม/ตร.กม. ซึ่งเเม้จะตำ่กว่าระดับอัตราเฉลี่ยของปริมาณไมโครพลาติกทั่วโลกเเต่เป็นอัตราที่สูงเทียบเท่ากับนำ้ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เศษไมโครพลาสติกที่พบส่วนใหญ่มาจากบรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติกที่เเตกตัวเป็นอนุภาคเล็กๆจากการเเช่อยู่ในนำ้เป็นเวลานานท่ามกลางรังสีอัลตราไวโอเลต ลม เเละเเรงดันจากคลื่นทำให้อนุภาคพลาสติกเหล่านี้ยากที่จะกำจัดเเละส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหารของสัตว์บกเเละสัตว์นำ้
.
การนำกลับมาใช้ใหม่ (reuse)
.
องค์กร Greenpeace Switzerland เผยเเพร่ผลการศึกษามาตรการส่งเสริมการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ (reuse) เพื่อเเก้ปัญหาขยะพลาสติกของเมืองที่มีประชากรหนาเเน่นในประเทศสวิตเซอร์เเลนด์จำนวน 15 เมือง พบว่าเมืองบาเซิลเเละกรุงเบิร์นได้รับการจัดอันดับที่ 1 เเละ 2 ตามลำดับในขณะที่นครเจนีวาอยู่ในอันดับปานกลางเเละนครซูริกอยู่ในลำดับท้ายเนื่องจากมีมาตรการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่อยู่ในเกณฑ์ตำ่ Greenpeace Switzerland ออกความเห็นว่าองค์กรบริหารเมือง (cities) มีบทบาทสําคัญในการทําให้มาตรการต่าง ๆ กลายเป็นเรื่องปกติ (norm) และช่วยไม่ให้เกิดขยะพลาสติก จึงเรียกร้องให้องค์กรบริหารเมืองต่าง ๆ มีมาตรการเพิ่มเติม เช่น การกําหนดให้ใช้ภาชนะแบบสามารถนํากลับมาใช้ใหม่ได้ในงาน กิจกรรมที่จะต้องขออนุมัติจากเมืองเพื่อจัดในพื้นที่สาธารณะ และในสถานที่อื่น ๆ เช่น โรงอาหารสําหรับเจ้าหน้าที่
.
การรีไซเคิล (recycle) หรือการแปรรูปขยะพลาสติกเพื่อนํากลับมาใช้ได้อีกครั้ง
.
มากกว่า 75 % ของพลาสติกประมาณ 1 ล้านตันที่ใช้ในสวิตเซอร์เเลนด์เป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง โดยทางการสวิส ใช้การจัดการขยะพลาสติก 2 วิธี คือ การเผาเพื่อผลิตเป็นพลังงานและการรีไซเคิล ส่วนวิธีการฝังกลบในหลุมได้ยกเลิกมาตั้งแต่ปี 2543
.
รายงานของสมาคมอุตสาหกรรม PlasticsEurope พบว่า ในปี 2559 สวิตเซอร์เเลนด์ มีอัตราส่วนของการจัดการขยะพลาสติกด้วยวิธีการรีไซเคิล 25% (และ 75% ใช้วิธีการเผา) โดยประเทศที่มีอัตราส่วนของการจัดการขยะพลาสติกด้วยวิธีการรีไซเคิลสูงที่สุดในยุโรป ได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน (40%) เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก ไอร์แลนด์ และสเปน (35%)
.
ทั้งนี้ สวิตเซอร์เเลนด์ มีการรณรงค์ตั้งจุดรับขวดเครื่องดื่มพลาสติก (PET) สําหรับรีไซเคิล ตั้งแต่ปี 2533 เพื่อสนองความต้องการที่จะมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจหมุนเวียนของผู้บริโภคสวิส ในขณะนี้มีจํานวนจุดรับขวดดังกล่าวมากกว่า 50,000 จุดทั่วประเทศและเริ่มมีจุดรับขวดพลาสติกทั่วไปอื่น ๆ ตามร้านค้าปลีกเมื่อปี 2556
.
ปัจจุบันมีการนําขยะพลาสติก ไปรีไซเคิลประมาณ 80,000 ตันต่อปี ส่วนใหญ่เป็นขวด PET ขวดนม แชมพู น้ํายาซักผ้า และขวดพลาสติกคุณภาพดีอื่น ๆ อย่างไรก็ดีในทางทฤษฎีแล้วสวิตเซอร์เเลนด์สามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกได้อีก 112,000 ตันต่อปี แต่ยังไม่มีระบบการจัดการของรัฐบาลกลางหรือโรงงานรีไซเคิลเพียงพอที่จะดําเนินการดังกล่าว
.
นโยบายการจัดการขยะพลาสติกของสวิตเซอร์เเลนด์ในปัจจุบัน
.
รัฐบาลกลางสวิสยังไม่มีการออกกฎหรือกําหนดมาตรการห้ามใช้หรือจําหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งหรือการรีไซเคิลขยะพลาสติก ซึ่งต่างจากประเทศอื่น ๆ เช่น สหภาพยุโรปที่ออกกฎห้ามจําหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร หลอดพลาสติก ซ้อนส้อม จาน แก้วน้ํา ก้านสําลีพลาสติก ฯลฯ ของสหภาพยุโรปซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งเเต่วันที่ 30 ก.ค. 2560 เป็นต้นมา การห้ามใช้ถุงพลาสติกในประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส บังกลาเทศ และหลายประเทศในแอฟริกา หรือ การเลิกใช้ microbeads ซึ่งเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ เช่น ยาสีฟัน และสครับผิว ในบางประเทศ
.
สําหรับสวิตเซอร์เเลนด์ การห้ามจําหน่ายผลิตภัณฑ์ใด ๆ ถือว่าเป็นการแทรกแซงเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ดั้งนั้นรัฐบาลกลางจะดำเนินการก็ต่อเมื่อมีเหตุผลอันสมควรและจําเป็นจริง ๆ เช่น กรณีที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี สวิตเซอร์เเลนด์มีแผนห้ามการใช้เเละงดจําหน่ายพลาสติกแตกสลายได้ชนิดอ๊อกโซ (oxO degradable) ในปี 2565 เนื่องจากพลาสติกดังกล่าวสามารถแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกในอัตราที่เร็วกว่าพลาสติกธรรมดา 100 เท่าเมื่อเจอกับแสงแดด แสงยูวี หรือ ความร้อนซึ่งจะก่อให้เกิดการปนเปื้อนในดินและน้ํา หากสะสมในร่างกายในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดมะเร็งหรือผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์
.
สถานการณ์ปัจจุบันเรื่องการลดการใช้พลาสติกในสวิตเซอร์เเลนด์
.
ภาคส่วนต่างๆ ในสวิตเซอร์เเลนด์ เช่น รัฐบาลท้องถิ่นและภาคเอกชน ร้านค้าปลีกและร้านอาหาร ได้ดําเนินมาตรการในการลดปริมาณและจัดการขยะพลาสติกโดยสมัครใจ ในปี 2563 เทศบาลนครเจนีวาได้ ห้ามจําหน่ายพลาสติกใช้แล้วทิ้งในพื้นที่สาธารณะ อาทิ ร้านขายของ รถขายอาหาร ร้านขายไอศกรีม และในงานกิจกรรมสาธารณะ
.
นับตั้งแต่ปี 2560 กลุ่มร้านค้าปลีกของสวิตเซอร์เเลนด์เริ่มเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ในราคา 0.5 แรพเพนต่อใบ ส่งผลให้การใช้ถุงพลาสติกตรงเคาน์เตอร์เก็บเงินลดลง 84% จากที่มีการใช้ถุงพลาสติกในปี 2559 จํานวน 417,781,000 ใบ เหลือจํานวน 66,112,000 ใบในปี 2560
.
Migros และ Coop ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของสวิตเซอร์เเลนด์ ได้เริ่มลดการจัดจําหน่ายเเละลดการแจกผลิตภัณฑ์พลาสติกสําหรับอาหารนำกลับโดยแทนที่ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ทําจากวัสดุอื่น เช่น ไม้ หรือสแตนเลส หรือสนับสนุนให้ลูกค้าซื้อหรือยืมภาชนะที่นํากลับมา ใช้ได้อีกนับตั้งเเต่ปี 2563
.
Migros และ Coop ยังลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสําหรับผลิตภัณฑ์ทั่วไปลงได้ 47% และ 21% แต่กลับพบว่าทั้งสองบริษัทมีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสําหรับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก เช่น ผักและผลไม้ มากถึง 100% และ 78% ตามลําดับ
.
โอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย
.
ประเทศไทยเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่สองของสวิตเซอร์แลนด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีบริษัทในเครือของสวิตเซอร์เเลนด์กว่า 200 บริษัทดำเนินธุรกิจในประเทศไทย อีกทั้งประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยในภูมิภาคยุโรป การที่สวิตเซอร์เเลนด์หันมาใส่ใจเเละเพิ่มมาตรการด้านการรักษาสภาพเเวดล้อมโดยการลดการใช้รวมไปถึงการรีไซเคิลขยะพลาสติก เเสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวทางด้านสิ่งเเวดล้อม ซึ่งตรงกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG Economy Model) ที่รัฐบาลไทยผลักดันเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด-19 สวิตเซอร์เเลนด์อาจเป็นโอกาสอันดีของธุรกิจไทย เช่น Tech Startup ในการนำรีไซเคิลเเพลตฟอร์มร่วมกับการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยลดค่าใช้จ่ายการกำจัดขยะ ลดค่าใช้จ่ายการเดินรถและเก็บขนขยะ อีกทั้งเปิดโอกาสให้มีการนำขยะมารีไซเคิลผ่านช่องทางออนไลน์เเละผู้รับซื้อขยะรีไซเคิลสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
.
ฐานข้อมูลที่รวบรวมได้จากรีไซเคิลแพลตฟอร์มไทยสามารถช่วยผู้ประกอบการสวิสในการรับมือกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมสังคมและเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของผู้บริโภคที่ธุรกิจสามารถนำไปใช้วางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนาฉลากบนบรรจุภัณฑ์ ที่ช่วยลดต้นทุนของธุรกิจและลดผลกระทบต่อสภาพเเวดล้อมเเละสภาพอากาศอย่างยั่งยืน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น