เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 สํานักงานการเกษตรแห่งสมาพันธรัฐสวิส (Federal Office for Agriculture – FOAM) ได้เปิดเผยรายงานในโครงการเฝ้าสังเกต ความหลากหลายของพันธุ์พืช สัตว์ และสภาพแวดล้อมในพื้นที่การเกษตรของสวิตเซอร์แลนด์ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ในสวิตฯ ซึ่งจัดทําเป็นครั้งแรก ดังนี้
.
อุปสงค์ผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ในสวิตฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การค้าปลีกถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนสูงอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว จากยอดจําหน่ายผลิตภัณฑ์ในปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 60 ล้านฟรังก์สวิส ในปี 2563 ยอดจําหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 117 ล้านฟรังก์สวิส โดยส่วนหนึ่ง เป็นผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ อัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 18.4 ต่อปี อย่างไรก็ดี ตลาดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์แล้วยังถือเป็นตลาดเฉพาะ (niche market) โดยมีส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกอยู่ที่ร้อยละ 2.3 และจากการศึกษาของสํานักงานการเกษตรฯ นั้น เบอร์เกอร์ที่ทําจากพืชได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ โดย 1 ในทุก ๆ 6 ชิ้น ของเบอร์เกอร์ที่จําหน่ายในร้านค้าปลีกจะใช้วัตถุดิบที่ทําจากพืช (สัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 1 ในทุก ๆ 14 ชิ้น เมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้)
.
ในส่วนของการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ของแต่ละครัวเรือนจะเป็นไปตามลักษณะทางสังคม และ ข้อมูลประชากร โดยมักจะได้รับความนิยมเป็นพิเศษในหมู่เยาวชนสวิตฯ ฝั่งที่ใช้ภาษาเยอรมันที่ครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี และในครัวเรือนที่มีลักษณะดังนี้ (1) มีบุตรไม่เกิน 2 คน (2) อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่ใช้ภาษาเยอรมันในสวิตฯ (3) สมาชิกอายุต่ำกว่า 50 ปี และ (4) ครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีและอยู่ในตัวเมือง ในทางตรงกันข้าม อุปสงค์ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ค่อนข้างต่ำในบริเวณชนบท ภูมิภาคตะวันตกของสวิตฯ ซึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศส หรือ ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
.
ตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์นับเป็นโอกาสสําหรับภาคการเกษตรของสวิตฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการผลิตวัตถุดิบประเภทผัก ซึ่งในปัจจุบันโปรตีนจากผักส่วนใหญ่ที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ในสวิตฯ เป็นผลิตภัณฑ์นําเข้ามาจากต่างประเทศ
.
อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์มีราคาสูงกว่าเนื้อสัตว์โดยทั่วไปอย่างมาก เช่น เบอร์เกอร์ ที่ทําจากผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์โดยเฉลี่ยจะราคาสูงกว่าเบอร์เกอร์ที่ทําจากเนื้อสัตว์ร้อยละ 42 หรือหากเป็นลักษณะของเนื้อที่แล่แล้วราคาจะสูงกว่ากันประมาณร้อยละ 16
.
ในขณะเดียวกัน มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทําให้การค้าปลีกอาหารในสวิตฯ ปี 2563 สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ มูลค่าการจําหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 29.9 พันล้านฟรังก์สวิส เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 11.3 ยอดจําหน่ายเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ในขณะที่ยอดจําหน่ายผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์อยู่ที่ 5,705 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.4 โดยผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ที่มียอดจําหนายเติบโตมากที่สุด ได้แก่ เนื้อสัตว์เทียม หรือเนื้อสัตว์สังเคราะห์ (meat analogue) ซึ่งมีลักษณะและรสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์
.
ในปัจจุบัน มีประชากรจำนวนไม่น้อยที่เริ่มหันมาสนใจการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์เป็นหนึ่งในอาหารที่กำลังได้รับความสนใจทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเลี้ยงปศุสัตว์ได้อย่างมาก รวมถึงความต้องการอาหารโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 60% ภายใน 30 ปีข้างหน้า ในส่วนของประเทศไทยเองมีเมืองภูเก็ต ที่ติดอันดับ 2 ด้านเมืองที่เป็นมิตรกับมังสวิรัติที่สุดในโลก ผนวกกับความเป็นประเทศเกษตรกรรมของไทย ทำให้เป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และ Start-up ในการค้นคว้า วิจัย และส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนเนื้อสัตว์ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่ถูกและหลากหลายของไทย ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มอื่นนอกเหนือจากผู้มีฐานะดีสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะในสวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศยุโรป สแกนดิเนเวีย และสหรัฐอเมริกา ที่กำลังให้ความสนใจอาหารกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาปัจจัยอื่นๆ เช่น ราคา แหล่งที่มาของอาหาร ความเป็นมิตรต่อแรงงาน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม หรือกลยุทธ์การเพิ่มสารบำรุงสุขภาพเพื่อดึงดูดความน่าสนใจจากกลุ่มลูกค้า เป็นต้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น