ภายหลังการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขอนามัยรวมถึงสุขภาพร่างกายของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้เทรนด์การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้นไปตามไปด้วย จากผลสำรวจด้านอาหารและสุขภาพประจำปี 2563 โดย International Food Information Council (IFIC) องกรณ์ไม่แสวงหาผลกำไรที่ได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่มและการเกษตรในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ร้อยละ 54 ของผู้บริโภคทั้งหมดและร้อยละ 63 ของกลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไปเลือกอาหารและเครื่องดื่มโดยให้ความสำคัญกับสุขภาพมากกว่ารสชาติและราคา ขณะที่ศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซ็ปต์แห่งอนาคต Baramizi Lab จัดให้อาหารสุขภาพเป็นหนึ่งใน Future Food Business Trend 2564 – 2565
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต บริษัท เซ็นทรัลกรุ๊ป จำกัด และห้างสรรพสินค้า Globus สวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดกิจกรรม ‘Thailand Days Vegan Vegetarian and Future Food’ เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์อาหารและผลิตภัณฑ์ประเภท vegan และมังสวิรัติ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในยุคปัจจุบัน
กิจกรรมข้างต้น ประกอบไปด้วย การสาธิตทำอาหารไทยมังสวิรัติจำนวน 2 รายการ ณ ห้างสรรพสินค้า Globus สาขากรุงเบิร์น ในวันที่ 11 – 12 กรกฎาคม 2565 โดยมีนาย Erwin Bollinger อธิบดีกรมความร่วมมือเศรษฐกิจทวิภาคี สำนักงานเศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์ (SECO) รวมทั้งคณะทูตประจำกรุงเบิร์น และนครเจนีวา ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลท้องถิ่นสวิตเซอร์แลนด์เข้าร่วมด้วย และในวันถัดมาได้เชิญหอการค้าสวิตฯ – เอเชีย โรงแรม บริษัทผู้นำเข้าสินค้าอาหาร และสถาบันการศึกษาด้านอาหารและการโรงแรมในนครซูริก เข้าร่วมการสาธิตประกอบอาหารไทยมังสวิรัติที่ห้างสรรพสินค้า Globus สาขานครซูริกด้วย และระหว่างวันที่ 11 – 23 กรกฎาคม 2565 มีการจัด in-store promotion แสดงผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มของไทยในซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าข้างต้นทั้งสองสาขา
กิจกรรมดังกล่าวได้รับการตอบรับด้วยดีจากกลุ่มลูกค้าของห้างสรรพสินค้า Globus อีกทั้งมีผู้แสดงความสนใจผ่านทางสื่อออนไลน์จำนวนมาก สังเกตจากจำนวนการมีส่วนร่วมในคลิปวิดีโอสาธิตการประกอบอาหารไทยมังสวิรัติบนสื่อ Instagram ของห้างสรรพสินค้าฯ (ซึ่งมีจำนวนผู้ติดตามประมาณ 6.18 หมื่นคน) พบว่า มีผู้แสดงความชื่นชมคลิปดังกล่าวมากถึง 5.6 พันครั้ง ซึ่งมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของการลงคลิปวิดีโอที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีจดหมายข่าวออนไลน์ของห้างสรรพสินค้าฯ อีก 2 ฉบับ ประกอบด้วย (1) Exclusive Newsletter ซึ่งส่งให้ผู้รับกว่า 4 หมื่นรายในวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 พบอัตราการเปิด (opening rate) จำนวน 1.8 หมื่นราย หรือคิดเป็นร้อยละ 39.7 และ (2) Newsletter Teaser ซึ่งส่งให้ผู้รับ ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 จำนวนกว่า 2 หมื่นราย มีอัตราการเปิด จำนวน 1.02 หมื่นราย หรือร้อยละ 43.3 ซึ่งมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของอัตราการเปิดที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทมังสวิรัติ หรือแบบ Vegan ล้วนแล้วแต่มีวัตถุดิบประเภทผัก ผลไม้ และธัญพืชมาเกี่ยวข้อง ด้านประเทศไทยเองมีความสามารถในการปลูกพืชผักต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าว และผลไม้ต่าง ๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจพิจารณาต่อยอดวัตถุดิบดังกล่าว โดยอาจแปรรูปเป็นอาหารที่ใกล้เคียงกับอาหารแบบปกติ เพื่อเพิ่มทางเลือกและสร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภคในกลุ่มมังสวิรัติและแบบ Vegan ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรให้ได้มาตรฐานอยู่เสมอ พร้อมส่งออกไปยังตลาดแถบยุโรปและสหราชอาณาจักรซึ่งมีปริมาณผู้บริโภคมังสวิรัติและวีแกนมากที่สุดในโลกในปี 2564 ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอาหาร ควรติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสทางการค้า
อ้างอิง:
– อาหารเพื่อสุขภาพ เทรนด์ร้อนยุค New Normal:
https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/อาหารเพื่อสุขภาพ-เทรนด์ร้อนยุค-new-normal
– อาหารเจ vs. มังสวิรัติ vs. Vegan ต่างกันอย่างไร เข้าใจใน 10 นาที!
https://www.chitaorganicfood.co.th/content/20787/vegan-and-vegetarian
– ‘วีแกน’ เทรนด์สินค้ากระแสแรงที่ธุรกิจต้องสนใจ
https://www.bangkokbanksme.com/en/vegan-trend-products-that-businesses