1. หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจสวิส
ดังนี้
.
1.1 สํานักงานสถิติแห่งชาติสวิส (The Federal Statistical Office – FSO) รายงานว่า
.
(1) GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 ปรับตัวลดลงจาก ร้อยละ 7.6 ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการสูญเสียรายได้ของภาคบริการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดฯ (หลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการฯ ในช่วงฤดูร้อน) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ทั้งในส่วนของที่พักและอาหาร รวมถึงศิลปะ สันทนาการ ความบันเทิง การสื่อสาร และคมนาคม ตลอดจนบริการด้านสุขภาพและกิจกรรมทางสังคม ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ เริ่มมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในภาพรวม การแพร่ระบาดของไวรัสฯ ระลอก 2 ในช่วงปลายปี 2563 ส่งผลกระทบน้อยกว่าการแพร่ระบาดฯ ระลอกแรก ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม – มิถุนายน) ของปี 2563
.
(2) จํานวนการจ้างงานของสวิตเซอร์แลนด์ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ลดลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 โดยสัดส่วนการจ้างงานเพศหญิงลดลงร้อยละ 0.6 และเพศชายลดลงร้อยละ 0.3 โดยมีตําแหน่งงานว่างน้อยลงจํานวน 12,600 ตําแหน่งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 หรือลดลงร้อยละ 16.1
.
(3) ผลประกอบการการค้าปลีกในเดือนมกราคม 2564 ลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2563 และลดลงร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับเดือน ธันวาคม 2563 โดยสินค้ากลุ่มอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ในขณะที่สินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่อาหารปรับตัวลดลงร้อยละ 10.4
.
(4) ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2564 หรืออยู่ที่ 100.2 (คํานวณจากฐานดัชนีราคา 100 จุด เมื่อเดือนธันวาคม 2563) อันเป็นผลจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้า เชื้อเพลิงและราคาค่าเช่าบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ราคาของสินค้าผลไม้ประเภทเบอร์รี่และผลิตภัณฑ์ยาปรับตัวลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563
.
1.2 ธนาคารแห่งชาติสวิส (Swiss National Bank) รายงานว่าในปี 2563 ธนาคารฯ มีผลกําไร จํานวน 20.9 พันล้านฟรังก์สวิส ซึ่งลดลงจากปี 2562 ที่มีผลกําไร 48.9 พันล้านฟรังก์สวิส โดยเป็นกําไรจากเงินตราต่างประเทศจํานวน 13.2 พันล้านฟรังก์สวิส มูลค่าของทองคําสํารองจํานวน 6.5 พันล้านฟรังก์สวิส และกําไรสุทธิของค่าเงินฟรังก์สวิสอีกจํานวน 1.2 พันล้านฟรังก์สวิส โดยจะแบ่งสรรผลกําไรดังกล่าวรวมจํานวน 6 พันล้านฟรังก์สวิส ให้กับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของสวิตเซอร์แลนด์ (1 ใน 3 ให้กับรัฐบาลกลาง และ 2 ใน 3 ให้กับรัฐท้องถิ่นต่าง ๆ)
.
1.3 สถาบัน KOF Swiss Economic Institute ของสถาบันเทคโนโลยี ETH ซูริก รายงานว่า มาตรวัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ (KOF Economic Barometer) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 102.7 จุด เพิ่มขึ้น 6.2 จุด จากเดือนมกราคม 2564 โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของมาตรวัดของภาคบริการและภาคการผลิตสินค้า โดยเฉพาะการผลิตกระดาษ อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์และไฟฟ้า
.
1.4 สายการบินสวิส (Swiss International Air Lines) ได้เปิดเผยรายงานประจําปี ซึ่งระบุว่า ในปี 2563 สายการบินฯ มีรายได้จํานวน 1.85 พันล้านฟรังก์สวิส น้อยกว่าปี 2562 ร้อยละ 65.2 โดยช่วงที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งรายได้ลดลงมากกว่าร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า สถานการณ์ของสายการบินฯ จะไม่สามารถฟื้นตัวได้ก่อนกลางฤดูร้อน (มิถุนายน – กันยายน) ของปี 2564 โดยปัจจุบันบริษัทฯ ยังคงสูญเสียรายได้วันละประมาณ 2 ล้านฟรังก์สวิส
.
2. การดําเนินการเพื่อการป้องกันและรักษาโรคจากไวรัสโควิด-19 ของภาคส่วนต่าง ๆ
.
2.1 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 บริษัท Novartis ได้ลงนามเบื้องต้นในความตกลงเพื่อผลิตสารประกอบ (โมเลกุล mRNA) สําหรับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้กับบริษัท CureVac ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพของ เยอรมนี โดยจะเริ่มต้นการผลิตที่โรงงานของบริษัทฯ ในเมือง Kundl ออสเตรียในช่วงฤดูร้อน (มิถุนายน – กันยายน) นี้ และคาดว่าจะสามารถผลิตสารประกอบดังกล่าวได้สําหรับวัคซีนจํานวน 50 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 ตลอดจนมีแผนจะเร่งการผลิตให้ได้ถึง 200 ล้านโดส ภายในปี 2565 ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สวิตเซอร์แลนด์ ได้สั่งซื้อวัคซีนฯ จํานวน 5 ล้านโดส จากบริษัทฯ แล้ว นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือนมกราคม 2564 บริษัทฯ ยังประกาศว่า จะมีส่วนในกระบวนการผลิตวัคซีนของ Pfizer/ BioNTech โดยการนําวัคซีนบรรจุลงในขวดแก้วที่โรงงานของบริษัทฯ ณ เมือง Stein สวิตเซอร์แลนด์ ด้วย
.
2.2 สํานักงานสาธารณสุขสวิส (Federal Office of Public Health) แถลงว่า จํานวนผู้ติดเชื้อไวรัสฯ ในทุกภูมิภาคของสวิตเซอร์แลนด์ จะเริ่มคงที่ อยู่ที่ประมาณ 160 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมพาพันธ์ 2564 อีกทั้งผลการศึกษาของโครงการภูมิคุ้มกันไวรัสโคโรนา (Corona Immunitas programme) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลต่าง ๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า (1) ผู้มีภูมิคุ้มกันไวรัสฯ ในสวิตเซอร์แลนด์ มีจํานวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากช่วงของการแพร่ระบาดฯ ระลอกแรก โดยในบางรัฐของสวิตเซอร์แลนด์ มีผู้มีภูมิคุ้มกันแล้วถึงร้อยละ 20-25 ของประชากร ซึ่งก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสฯ ในระลอกที่ 2 มากกว่าในระลอกแรกเป็นจํานวนมาก และ (2) ภูมิคุ้มกันดังกล่าวสามารถอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลาถึงหกเดือนภายหลังการติดเชื้อฯ อย่างไรก็ดี สํานักงานสาธารณสุขสวิสยังเห็นว่า การแพร่ระบาดฯ ในสวิตเซอร์แลนด์ ยังไม่สิ้นสุด และสถานการณ์ยังคงมีความเปราะบางและไม่แน่นอน โดยปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์ใหม่ถึงร้อยละ 68 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสวิตเซอร์แลนด์
.
ทั้งนี้ เนื่องจากสวิตเซอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยจัดอยู่ในอันดับที่ 17 ในปี 2562 มีมูลค่าการค้า 8,922 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไทยส่งออกเป็นมูลค่าถึง 5,295 ล้านดอลลาร์ และนำเข้ามูลค่า 3,627 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและชิ้นส่วน รถยนต์และอุปกรณ์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ซึ่งการที่สวิตเซอร์แลนด์ ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดฯ นั้น อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้ ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมดังกล่าวและส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ควรติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและมาตรการของสวิตเซอร์แลนด์ อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น
.
ขอบคุณรูปภาพจาก: Syndication Washington Post, Bloomberg · Catherine Bosley