เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 คณะรัฐมนตรีสวิสเซอร์แลนด์ได้เห็นชอบต่อกฎหมาย “Regulation on Admission, Residence and Employment (VZAE)” ซึ่งกำหนดอัตราโควตาแรงงานต่างชาติที่จะสามารถเข้ามาทำงานในสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2563 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563
[su_spacer]
กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดโควตาแรงงาน/ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติในปี 2563 ในอัตราเดียวกันกับปี 2562 เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 12,000 คน ประกอบด้วย (1) แรงงานต่างชาติจากประเทศใน EU และ EFTA กำหนดจำนวน 3,000 คน สำหรับแรงงานระยะสั้น (short-term resident – L) ซึ่งมีระยะเวลาพำนักและทำงานในสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่าง 3 – 12 เดือน และจำนวน 500 คน สำหรับแรงงานระยะยาว (resident – B) ซึ่งมีระยะเวลาพำนักและทำงานในสวิตเซอร์แลนด์อย่างน้อย 1 ปี คิดเป็นจำนวนรวม 3,500 คน และ (2) แรงงานต่างชาติจากประเทศที่สาม ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย กำหนดจำนวน 4,000 คน สำหรับแรงงานระยะสั้น และจำนวน 4,500 คน สำหรับแรงงานระยะยาว คิดเป็นจำนวนรวม 8,500 คน ทั้งนี้ การกำหนดโควตาของแรงงาน/ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติดังกล่าวพิจารณาจากความจำเป็นและความต้องการแรงงาน/ผู้เชี่ยวชาญของภาคเศรษฐกิจสวิสเป็นสำคัญ รวมทั้งได้พิจารณาถึงจำนวนโควตาที่จัดสรรและใช้จริงในปี 2562 และผ่านการหารือกับผู้แทนของรัฐต่าง ๆ และภาคประชาสังคมด้วยแล้ว
[su_spacer]
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดโควตาแรงงานต่างชาติจากสหราชอาณาจักรขึ้นเป็นกรณีพิเศษ หากเกิดกรณี no deal Brexit ซึ่งเป็นไปตามความตกลงทวิภาคีระหว่างสวิตเซอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร โดยกำหนดจำนวนแรงงาน 3,000 คน สำหรับแรงงานระยะสั้น และจำนวน 500 คน สำหรับแรงงานระยะยาว เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหากรณี no deal Brexit และ ป้องกันการใช้โควตาของกลุ่มแรงงานประเทศที่สามของแรงงานจากสหราชอาณาจักร
[su_spacer]
อนึ่ง การกำหนดโควตาของแรงงาน/ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเป็นประเด็นถกเถียงและขัดแย้งระหว่างรัฐต่าง ๆ ของสวิตเซอร์แลนด์ โดยโควตาของแรงงานต่างชาติจากประเทศที่สามเคยปรับลดลงเหลือเพียง 6,500 คนต่อปี ภายหลังจากการจัดทำประชามติเมื่อปี 2557 ซึ่งต้องการลดจำนวนแรงงานต่างชาติลง แต่ต่อมาได้ปรับเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 8,500 คน (เท่ากับจำนวนในปัจจุบัน) ภายหลังจากเกิดการประท้วงจากหลายรัฐ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ และผลักดันให้เพิ่มโควตาแรงงานต่างชาติจากประเทศที่สามมากขึ้น
[su_spacer]
นอกจากนี้ ความสามารถในการแข่งขันของสวิตเซอร์แลนด์ด้านการดึงดูดและพัฒนาแรงงานมีฝีมือ ตามรายงาน World Talent Ranking ประจำปี 2562 ของ IMD ซึ่งจัดอันดับประเทศและเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั่วโลกรวม 63 แห่งในด้านการดึงดูดและพัฒนาแรงงานมีฝีมือ สวิตเซอร์แลนด์ยังคงได้รับการจัดอันดับที่หนึ่งในด้าน ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยสวิตเซอร์แลนด์ได้รับการจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ในตัวชี้วัดหลักทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย (1) ด้านการดึงดูดแรงงาน (Appeal) ได้รับการจัดเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคุณภาพชีวิตที่ดี (2) ด้านการลงทุนและการพัฒนา (Investment & Development) ได้รับการจัดอยู่ในอันดับที่ 2 เนื่องจากมีระบบการฝึกงานที่มีประสิทธิภาพและมีโครงการด้านสาธารณสุขที่ดี และ (3) ด้านความพร้อม (Readiness) ได้รับการจัดอยู่ในอันดับที่ 2 เนื่องจากมีระบบและการจัดการด้านการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ
[su_spacer]
อย่างไรก็ดี สวิตเซอร์แลนด์ยังมีหลายประเด็นย่อยภายใต้ตัวชี้หลักทั้ง 3 ด้าน ที่ยังต้องปรับปรุงและพัฒนา อาทิ อัตราส่วนระหว่างครูและนักเรียนในชั้นประถมศึกษาและในชั้นมัธยมตอนต้น (ซึ่งอยู่ที่อันดับ 32 และอันดับที่ 29 ตามลำดับ) รวมทั้งอัตราส่วนของแรงงานผู้หญิงต่อจำนวนแรงงานทั้งหมดอยู่ที่อันดับ 22
[su_spacer]