สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีชื่อเสียงด้านนวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเป็นอันดับต้น ๆ ในการจัดอันดับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ดัชนีความยั่งยืน (SDGs Report) อันดับที่ 1 และ 2 ในปี 2563 และ 2564 ตามลําดับ ดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) อันดับที่ 2 ในปี 2564 และอันดับที่ 1 ใน RobecoSAM Country Sustainability Ranking ปี 2021 ซึ่งจัดลําดับโดยพิจารณาจากพัฒนาการด้านการปกครอง สังคม และสิ่งแวดล้อม (Governance, Social, Environmental – GSE) ในภาพรวม สวีเดนติด 1 ใน 10 อันดับประเทศที่มี Nation Branding ที่ดีที่สุดในโลก (อ้างอิงจาก Anholt-psos Nation Brands Index)
.
ที่ผ่านมา รัฐบาลสวีเดนได้ประกาศการทํางานที่เน้นส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ครอบคลุมในทุก กลุ่มอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมบทบาทของนวัตกรรมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นหนึ่งในประเทศผู้นําด้านการวิจัยและนวัตกรรมระดับโลก และการเป็นประเทศแห่งความรู้ชั้นนํา รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับการดําเนินการตาม Agenda 2030 ด้วย โดยพัฒนาการล่าสุดเกี่ยวกับการดําเนินการที่สําคัญตามที่รัฐบาลสวีเดนได้ประกาศในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ได้แก่
.
(1) การทำให้สวีเดนกลายเป็นประเทศที่ยั่งยืนที่สุดในโลก และเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวด้านนวัตกรรม (Sweden as the world’s most sustainable and attractive tourism destination built on innovation)
.
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของสวีเดนเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 2000 โดยมีปัจจัยดึงดูด นักท่องเที่ยวหลัก เช่น ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และการออกแบบ ทําให้ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุดในสวีเดน โดยในปี 2562 รายได้จากการท่องเที่ยวของสวีเดนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.5 ของ GDP
.
ในปี 2564 Euromonitor International ได้เปรียบเทียบการทํางานด้านความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ การขนส่ง ที่อยู่อาศัย และการให้ความสําคัญกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ระหว่าง 99 ประเทศทั่วโลก และได้จัดอันดับให้สวีเดนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สุดในโลก (World’s most sustainable tourism destination)
.
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 รัฐบาลได้แถลงยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวระยะ 10 ปี หรือ Vision 2030 โดยมีเป้าหมายส่วนหนึ่งเพื่อการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจาก COVID-19 โดยเมื่อปี 2563 จํานวนนักท่องเที่ยวลดลงถึงร้อยละ 74 ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นการจัดทําร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้ง ได้กําหนดเป้าหมายให้สวีเดนเป็นประเทศที่ยั่งยืนที่สุดในโลกและเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยนวัตกรรม (the world’s most sustainable and attractive tourism destination built on innovation) ผ่านการส่งเสริมการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ (1) การอํานวยความสะดวกต่อการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว (2) การส่งเสริมทักษะและศักยภาพของบุคลากรด้านการท่องเที่ยว (3) การพัฒนาความรู้และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ (4) การพัฒนาระบบขนส่งและการเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ
.
(2) การพัฒนากิจการด้านอวกาศ
.
กิจการด้านอวกาศเป็นด้านที่สวีเดนค่อนข้างได้รับความสนใจในระดับสากล เนื่องจากมีบริษัทด้านอวกาศชั้นนําหลายแห่ง เช่น Swedish Space Corporation (SSC), RUAG Space AB และมีฐานปล่อยจรวดที่สําคัญ เช่น Esrange Space Center ทําให้รัฐบาลสวีเดนหันมาเสริมศักยภาพในกิจการด้านอวกาศอย่างจริงจังมากขึ้น โดยในร่างงบประมาณปี 2565 รัฐบาลได้เสนองบประมาณจํานวน 100 ล้านโครนาสวีเดน/ปี สําหรับการวิจัยด้านอวกาศโดยเฉพาะ ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป โดยรัฐบาลเล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะนําไปสู่การพัฒนาด้านนวัตกรรมอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และสร้างอาชีพให้กับประชากร โดยมี Swedish National Space Agency (NSA) เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลกิจการด้านดังกล่าวตามยุทธศาสตร์กิจการด้านอวกาศของสวีเดน (Strategy for Swedish Space Activities) ปี 2561
.
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 รัฐบาลได้มอบหมายให้ NSA พัฒนาห้องปฏิบัติการข้อมูลอวกาศของสวีเดน (Swedish Space Data Lab) ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์ข้อมูลที่หน่วยงานของสวีเดนและต่างชาติใช้ในการทํางานเกี่ยวกับ earth observation data และ AI-based analysis of data เพื่อยกระดับการใช้งานข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลดังกล่าว ให้สามารถนําไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสังคม อุตสาหกรรม และเพื่อประโยชน์โดยรวมของโลกได้ครอบคลุมมากขึ้น
.
ปัจจุบัน ไทยมีความร่วมมือกับสวีเดนด้านอวกาศ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐของสวีเดน กับ GISTDA และ SSC ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 และได้เปิดสถานีรับสัญญาณ (ground satellite station) ที่ศูนย์นวัตกรรมรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้บริการติดตามยืนยันตําแหน่งของดาวเทียมค้างฟ้าที่อยู่ในห้วงอวกาศ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมถึงการให้บริการปรับแก้ข้อมูลเชิงตําแหน่งให้กับดาวเทียมนําทางของญี่ปุ่น (QZSS) และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 SSC ได้จดทะเบียนบริษัทในไทยในชื่อ SSC Thailand ภายใต้เงื่อนไขการส่งเสริมของ BOI
.
(3) แผนการเป็นประเทศชั้นนําด้าน Life Sciences
.
เมื่อปี 2561 รัฐบาลได้กําหนดยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนกิจการด้านวิทยาศาสตร์ (national life sciences strategy) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สวีเดนเป็นประเทศที่น่าดึงดูดสําหรับภาคธุรกิจ ภาคการลงทุน และความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Life Science ซึ่งปัจจุบัน สวีเดนมีหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษาที่ทํางานด้าน Life Science ในหลายพื้นที่ของประเทศ เช่น Stockholm/Uppsala, Gothenburg, Malmö/Lund, Linköping และ Umeå รวมทั้งหมดประมาณ 3,000 แห่ง และมีการจ้างงานประมาณ 42,000 อัตรา ในปี 2561
.
ขณะที่สถานการณ์ COVID-19 สะท้อนให้เห็นบทบาทของอุตสาหกรรม life science ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เนื่องจาก life science เป็นหนึ่งในไม่กี่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในช่วง COVID-19 เช่น ตัวเลขการส่งออกยาจากสวีเดนในปี 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีก่อนหน้า มูลค่ารวม 115,000 ล้านโครนาสวีเดน
.
โดยเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจํานวน 21 ล้านโครนาสวีเดน เพื่อมอบหมายให้ Vinnova ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนด้านนวัตกรรม ในการทํางานร่วมกับบริษัท NorthXBiologics ในการจัดตั้งศูนย์กลาง ที่เมือง Matfors ทางตอนเหนือของสวีเดน (ปัจจุบันมีฐานผลิตวัคซีนอยู่แล้ว) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการวิจัย และการผลิตยา/วัคซีน รวมทั้งการพัฒนาวัคซีน mRNA เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของสวีเดน โดยการดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพ และเป็นหนึ่งในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในกรณีที่เกิดวิกฤตในอนาคต
.
จะเห็นได้ว่าการนโยบายดังกล่าวของสวีเดนจะเน้นไปที่การพัฒนาความยั่งยืนของการท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ซึ่งการชูความโดดเด่นด้านนวัตกรรมสู่สายตานักท่องเที่ยว และมุ่งอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง และโลจิสติกส์ จะสามารถดึงดูดความสนใจแก่นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์จากไทย และทั่วโลกได้ง่ายขึ้น ซึ่งการที่สวีเดนไม่มีข้อกีดกันการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้สวีเดนเป็นอีกประเทศที่น่าลงทุนจากทั่วโลกอีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาการใช้พื้นที่ EEC เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาศักยภาพ และขยายกิจการด้านอวกาศ เนื่องจากในขณะนี้ ได้มีการริเริ่มโครงการ SSC Space Thailand เพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านธุรกิจอวกาศของบริษัทต่างประเทศใน EEC แล้ว โดยสวีเดนได้มีความสนใจในโครงการดังกล่าว และตั้งเป้าการลงทุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมอวกาศในเอเชียแปซิฟิกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม