ต่อเนื่องจากบทความ “เปิดประตูสู่โอกาสการค้าและการลงทุนในซูดาน (ตอนที่ 1)” ที่ได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับบรรยากาศทางเศรษฐกิจของซูดานซึ่งเอื้อต่อการค้าการลงทุน อันเป็นผลมาจากการปรับปรุงระบบและกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน การสร้างระบบ One stop shop ที่เป็นศูนย์กลางการติดต่อกับหน่วยงานราชการเพื่อลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตการทำธุรกิจ การสร้างเขตการลงทุนปลอดภาษีอากร (Free zone) และการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ท่าอากาศยาน และท่าเรือต่าง ๆ สำหรับครั้งนี้ จะขอกล่าวถึงข้อมูลและประเภทของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รับทราบข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนในซูดานในอนาคต[su_spacer size=”20″]
หลังจากความขัดแย้งภายในประเทศมีแนวโน้มลดลงและการยกเลิกการคว่ำบาตรจากชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซูดานเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในมิติต่าง ๆ ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้เริ่มมีการฟื้นฟูด้านการค้า การลงทุนและอุตสาหกรรมในประเทศ อย่างไรก็ดี การพัฒนาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ก็ยังไม่ทันสมัยและขาดความก้าวหน้าเพียงพอที่จะแข่งขันกับชาติอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของโลก ระบบเศรษฐกิจของซูดานจึงต้องการแหล่งความรู้ (know-how) จากต่างชาติเป็นอย่างมาก ส่งผลให้เป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยที่จะได้เข้าไปใช้ความรู้ งานวิจัย และความชำนาญที่ได้สะสมมานานเพื่อนำทรัพยากรของซูดานมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการลงทุนในสาขาดังต่อไปนี้[su_spacer size=”20″]
ด้านเกษตรกรรม แม้ว่าซูดานจะเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 1.88 ล้านตารางกิโลเมตร แต่พื้นที่จำนวนมากในทางตอนเหนือของประเทศกลับเป็นทะเลทราย อย่างไรก็ดี การที่ซูดานมีฤดูฝนที่ยาวนาน โดยเฉพาะในภาคใต้ของประเทศที่มีฤดูฝนจะยาวนานถึง 6 เดือน ประกอบกับการที่ซูดานมีแม่น้ำไนล์ไหลผ่าน จึงทำให้ซูดานมีศักยภาพอยู่พอสมควรในการปลูกพืช ซึ่งในปัจจุบัน มีการปลูกพืชหลายชนิด ได้แก่ ฝ้าย ถั่ว งา เมล็ดทานตะวัน และต้นอะคาเซีย (Acacia) ซึ่งยางที่ได้จากต้นอะคาเซีย หรือที่เรียกว่า “กัมอารบิค” สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารต่าง ๆ เช่น ลูกกวาด เบียร์ และเบเกอรี่ เป็นต้น[su_spacer size=”20″]
นอกจากในด้านการเกษตรแล้ว ซูดานยังมีศักยภาพในด้านการประมง เนื่องจากซูดานมีทรัพยากรทางน้ำที่สมบูรณ์ และมีชายฝั่งที่ยาวถึง 850 กิโลเมตร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของซูดานคาดการณ์ว่าซูดานมีศักยภาพในการทำประมงได้ปีละ 650,000 ตัน แต่ปัจจุบัน สามารถใช้ทรัพยากรทางน้ำได้เพียงร้อยละ 14 เท่านั้น จึงถือว่ามีปัจจัยการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเลอีกมาก[su_spacer size=”20″]
ซูดานยังเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุสำคัญ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ทองแดง เหล็ก โครเมียม และทองคำ ซึ่งปัจจุบัน ซูดานเป็นผู้ผลิตทองอันดับ 2 ของทวีปแอฟริกา จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจรับสัมปทานเหมืองแร่ หรือรับซื้อแร่ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงการที่รัฐบาลซูดานรวมถึงประเทศข้างเคียงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจของประเทศ ความต้องการวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กก็ยิ่งจะมีเพิ่มมากขึ้น จึงนับเป็นเรื่องที่น่าศึกษาในเชิงลึกเพื่อหาช่องทางและโอกาสในด้านนี้ต่อไป[su_spacer size=”20″]