อุตสาหกรรมเกษตรออร์แกนิกโลกขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่จำนวนพื้นที่เพาะปลูกเกษตรออร์แกนิก (50.9 ล้านเฮคเตอร์) จำนวนผู้ผลิต (2.4 ล้านรายใน 179 ประเทศ) และมูลค่าตลาดอาหารออร์แกนิก (ประมาณ 75,000 ล้านยูโร) โดยมีปัจจัยบวกมาจากกระแสคนรักสุขภาพ ความต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กอปรกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน [su_spacer size=”20″]
รัฐบาลไทยมีนโยบายต้องการยกระดับการผลิตอาหารในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการอาหารของไทยในกลุ่มอาหารอนาคตหรือ Future Food ให้มีคุณภาพ ปลอดภัย มีคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสม ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตการเกษตรของไทยให้สอดคล้องกับกระแสการบริโภคของตลาดโลก ข้อมูลจากสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่าอาหารออร์แกนิกเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุดในกลุ่มอาหารอนาคตเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารอนาคตอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) อาหารและเครื่องดื่มเสริมสุขภาพหรือ Functional Food (2) อาหารทางการแพทย์หรือ Medical Food และ (3) อาหารที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทางนวัตกรรมหรือ Novel Food เนื่องจากมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วและมีจำนวนผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ออกสู่ตลาดมากที่สุด โดยปี 2560 ทั่วโลกมีผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิก ออกวางจำหน่ายในท้องตลาดมากถึง 23,590 รายการ ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในส่วนของผู้ประกอบการไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยสามารถผลิตสินค้าอาหารออร์แกนิกเพื่อวางจำหน่ายในท้องตลาดได้สูงถึง 565 รายการ ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 46 [su_spacer size=”20″]
วันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสถานเอกอัครราชทูตณ กรุงมาดริด จะพาไปเจาะข้อมูลความน่าสนใจของตลาดอาหารออร์แกนิกในสเปน รวมทั้งลู่ทางการขยายตลาดอาหารออร์แกนิกไทยในแดนกระทิงดุ [su_spacer size=”20″]
ในอุตสาหกรรมตลาดอาหารออร์แกนิกโลก สเปนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อย เนื่องด้วยจำนวนพื้นที่เพาะปลูกเกษตรออร์แกนิกมากที่สุดในยุโรปและสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก (2.01 ล้านเฮคเตอร์ หรือร้อยละ 8 ของพื้นที่การเกษตรของประเทศ) ขณะเดียวกันตลาดอาหารออร์แกนิกของสเปนก็ใหญ่เป็นอันดับที่ 10 ของโลก โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามียอดจำหน่ายสินค้ามูลค่ารวมประมาณ 1,700 ล้านยูโร นอกจากนี้ สเปนก็ยังสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าอาหารออร์แกนิก 900 ล้านยูโร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทผัก ผลไม้ ไวน์ และน้ำมัน โดยตลาดหลัก คือ สมาชิกสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี สวีเดน และเนเธอร์แลนด์[su_spacer size=”20″]
แม้ว่าสเปนจะเป็นผู้ผลิตอาหารออร์แกนิกที่สำคัญของอียู แต่ยังขาดสินค้าอาหารออร์แกนิกแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ทำให้สเปนยังคงมีความต้องการที่จะนำเข้าสินค้าออร์แกนิกเพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสเปนนำเข้าสินค้าออร์แกนิกปีละ 600 ล้านยูโร ซึ่งส่วนใหญ่สินค้าดังกล่าวมาจากสมาชิกสหภาพยุโรป (เยอรมนี ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ และอิตาลี) สหรัฐฯ ลาตินอเมริกา อินเดีย เป็นต้น ทั้งนี้ ประเภทสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธัญพืชและถั่วเหลือง อาทิ เครื่องดื่ม เส้นพาสต้า แป้ง ซอส ข้าว น้ำซุป เครื่องปรุงรส เมล็ดธัญพืช (2) อาหารสัตว์และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมออร์แกนิก (3) อาหารสำหรับเด็ก อาหารเสริม เครื่องดื่มให้พลังงาน (4) กาแฟ ชาและเครื่องดื่มสมุนไพรจากโกโก้ และผลิตภัณฑ์สำหรับเบเกอร์รี่ (5) ผักผลไม้ตามฤดูกาล และผักผลไม้เขตร้อน (6) นมและผลิตภัณฑ์จากนม (7) อาหารพร้อมรับประทาน อาหารกระป๋อง ขนมทานเล่น และ (8) สินค้าอื่น ๆ ที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์หรือพืช [su_spacer size=”20″]
ปัจจุบัน ตลาดอาหารออร์แกนิกครองสัดส่วนตลาดอาหารสเปนประมาณร้อยละ 1.69 ซึ่งแม้จะยังไม่สูงมากนัก แต่เห็นได้ว่าอาหารประเภทนี้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนสเปนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการดูแลสุขภาพเพื่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารเคมีตกค้าง และเชื่อว่าอาหารออร์แกนิกมีคุณภาพสูงกว่าและรสชาติดีกว่าอาหารอื่น ๆ ทั่วไป โดยอาหารออร์แกนิกที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นอาหารสด ได้แก่ ผัก (ร้อยละ 18.5) เนื้อสัตว์ (ร้อยละ 15) ธัญพืช (ร้อยละ 11.5) ผลไม้และผลไม้กระป๋อง (ร้อยละ 11) น้ำมันมะกอก (ร้อยละ 8) และนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม (ร้อยละ 6.5) [su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ ในส่วนของสินค้าอาหารออร์แกนิกไทยในตลาดสเปน พบว่ายังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก และมักเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทท้องถิ่น/ต่างชาตินำเข้ามาจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าว อาทิ ข้าวหอมนิลออร์แกนิกแบรนด์ Bioprasad ข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิกแบรนด์ Biográ ข้าวกล้องงอกหอมมะลิออร์แกนิกแบรนด์ SaludViva ข้าวออร์แกนิกหลากชนิดแบรนด์ La Grana รวมถึงมะพร้าวน้ำหอมออร์แกนิกแบรนด์ Genuine Coconut เป็นต้น [su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ ตลาดอาหารออร์แกนิกในสเปนถือเป็นตลาดที่น่าสนใจอีกตลาดหนึ่งและเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาส่งออกอาหารออร์แกนิกมายังสเปนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวสารบรรจุถุง ผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มธัญพืช ซอสและเครื่องปรุงรส น้ำมันมะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว หรือขนมแผ่นข้าวอบกรอบ เป็นต้น [su_spacer size=”20″]
ผู้ประกอบการที่สนใจขยายตลาดอาหารออร์แกนิกไทยในสเปนอาจพิจารณาเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารออร์แกนิกที่สำคัญ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ได้ทำความรู้จักกับตลาดสเปน รวมถึงคู่ค้าในตลาดแห่งนี้ให้มากขึ้น อาทิ (1) Ecosalud Barcelona 2019 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน 2562 ณ นครบาร์เซโลนา (https://www.expoecosalud.es/) (2) Free From Functional Food Expo วันที่ 28-29 พฤษภาคม 2562 ณ นครบาร์เซโลนา (https://www.freefromfoodexpo.com/) (3) Organic Food Iberia วันที่ 6-7 มิถุนายน 2562 ณ กรุงมาดริด (https://www.organicfoodiberia.com/) และ (4) BioCultura วันที่ 9-12 พฤษภาคม 2562 ณ นครบาร์เซโลนา และ 7-10 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงมาดริด (http://www.biocultura.org/) [su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจยังสามารถเปิดตลาดสินค้าผ่านเครือข่ายร้านสินค้าออร์แกนิกในสเปน อาทิ (1) Veritas (https://www.veritas.es/) (2) Herbolario Navarro (https://www.herbolarionavarro.es/) (3) SuperSano (http://www.supersano.es/) (4) Tribu Woki (http://www.tribuwoki.com/) (5) Ecorganic (https://www.ecorganicweb.com/) (6) GranBiBio (https://www.granbibio.es/) และ (7) Bio c’ Bon (https://www.bio-c-bon.eu/es) เป็นต้น หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าอาหารออร์แกนิก รวมทั้งลู่ทางการค้าอื่น ๆ กับสเปนได้ที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด อีเมล์ info@thaibizmadrid.com [su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด