“Smart City” หรือ “เมืองอัจฉริยะ” เป็นคำที่คุ้นหูเรามากขึ้นทุกวัน กล่าวกันว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้องบริหารจัดการ 3 องค์ประกอบสำคัญอย่างผสมผสานและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ เทคโนโลยี ความยั่งยืนและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาให้เมืองใหญ่ให้น่าอยู่ รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล โดยตามรายงาน Mapping the Smart City ของคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่าเมืองที่จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็น เมืองอัจฉริยะนั้นจะต้องมีการดำเนินโครงการเกี่ยวข้องกับ 1 ใน 6 ด้านดังต่อไปนี้ ได้แก่ 1) Smart Economy อาทิ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และธุรกิจทางอินเตอร์เนต การผลิตและการขนส่งสินค้าบริการโดยใช้เครื่องมือดิจิตอล 2) Smart Environment เน้นการพัฒนาสภาพแวดล้อมของเมืองอย่างยั่งยืน ทั้งการบริหารจัดการการใช้น้ำ พลังงาน และทรัพยากรต่าง ๆ เป็นต้น 3) Smart Governance ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่โปร่งใสได้ในเวลาจริง 4) Smart Living โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดภัย 5) Smart Mobility เพื่อส่งเสริมระบบการขนส่งอย่างยั่งยืน ปลอดภัยและสามารถเชื่อมโยงการขนส่งหลายรูปแบบได้ และ 6) Smart People เพื่อให้เมืองมีบทบาทสำคัญในการให้การอบรมประชาชนและให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมต่อการบริหารจัดการเมือง [su_spacer size=”20″]
สเปนมี 9 เมืองที่ติดอยู่ใน 165 อันดับของเมืองที่ได้รับการประเมินตามดัชนี IESE Cities in Motion Index (CIMI) โดยกรุงมาดริดและนครบาร์เซโลนาคว้าอันดับที่ 25 และ 26 ของเมืองอัจฉริยะของโลก โดยมีจุดแข็งด้านการคมนาคมและการขนส่งและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการสาธารณะ [su_spacer size=”20″]
ในส่วนของกรุงมาดริด เทศบาลกรุงมาดริดเป็น 1 ใน 5 เทศบาลที่มีประชากรมากที่สุดในยุโรป (3.2 ล้านคน) มีเจ้าหน้าที่เทศบาลจำนวน 27,000 คน ซึ่งต้องรับมือกับการบริหารจัดการทรัพยากรเมืองซึ่งนับวัน ยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น ขยะ 1 ล้านตัน/ปี การใช้น้ำ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี รถยนต์บนถนนกว่า 1.7 ล้านคัน เสาไฟทาง 2.52 แสนต้น อาคารสาธารณะ 835 แห่ง และต้นไม้ 7.5 แสนตัน และยังเป็นเมืองที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมากในแต่ละปี (ปี 2561 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนกรุงมาดริดประมาณ 7.1 ล้านคน) วันนี้ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในสเปนจะพาไปรู้จัก 2 โครงการที่น่าสนใจในการพัฒนากรุงมาดริดให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โดยมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้บริหารจัดการ เพื่อให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน [su_spacer size=”20″]
1. MiNT, Madrid Inteligente
MiNT, Madrid Inteligente (หรือ MiNT Smart Madrid) เป็นโครงการซึ่งเริ่มเมื่อเดือนเมษายน 2558 เพื่อพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีบริษัท INSA ภายใต้เครือบริษัท IBM เป็นผู้พัฒนาระบบ (ปัจจุบันบริษัท INSA เปลี่ยนชื่อเป็น Viewnext) [su_spacer size=”20″]
จุดเด่นของระบบ MiNT คือเป็นแพลตฟอร์มรวมศูนย์ข้อมูลของหลายระบบไว้ด้วยกัน เพื่อให้บริการด้านการจัดการชุมชนเมือง และสร้างการสื่อสารระหว่างกันของเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และช่วยป้องกันปัญหาการจัดการทับซ้อนของหลายหน่วยงานได้อีกด้วย [su_spacer size=”20″]
ระบบ MiNT ครอบคลุมการบริการหลายด้าน อาทิ ระบบไฟบนพื้นที่สาธารณะ การติดตั้งระบบท่อระบายน้ำ การซ่อมแซมองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการจราจร ทางเดิน สะพาน และโครงสร้างต่าง ๆ การขนส่งระบบตู้สินค้า การทำความสะอาดเมือง การรดน้ำต้นไม้ ระบบการจัดการพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ อุทยานประวัติศาสตร์ วนอุทยาน อุปกรณ์ประกอบถนน (street furniture) พื้นที่สำหรับเด็กเล็กและผู้ใหญ่ พื้นที่สันทนาการ การใช้ก๊าซ ไฟฟ้า พลังงานเชื้อเพลิงและน้ำ ข้อมูลที่จอดรถ เป็นต้น [su_spacer size=”20″]
ระบบ MiNT สร้างขึ้นมาบนหลักการ 3 ประการ ได้แก่ คุณภาพ การมีส่วนร่วมและการบูรณาการ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและความโปร่งใสของการให้บริการได้ (Open data) ระบบให้ความสำคัญกับคุณภาพการบริการและการประเมินผลอย่างโปร่งใส โดยการบริการแต่ละครั้งจะได้รับการประเมินคุณภาพจากข้อมูลตัวเซ็นเซอร์ (Internet of Things) การตรวจสอบ และความพึงพอใจของประชาชน [su_spacer size=”20″]
ระบบ MiNT ได้ช่วยให้เทศบาลกรุงมาดริดสามารถบริหารจัดการทรัพยากรและบริการของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนเองก็สามารถเข้าไปมีบทบาทในการดำเนินการดังกล่าวได้ เมื่อเกิดปัญหาประชาชนสามารถแจ้งเรื่องต่อเทศบาลกรุงมาดริดได้หลายช่องทาง ทั้งทางหมายเลขโทรศัพท์ 010 เว็บไซต์เทศบาลกรุงมาดริด (www.madrid.es) แอปพลิเคชั่น “Avisos Madrid” หรือแจ้งเรื่องด้วยตนเองที่สำนักงานบริการประชาชน (Oficinas de atención a la ciudadanía) ที่มี 26 แห่งทั่วกรุงมาดริด ในกรณีที่แจ้งเรื่องผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นสามารถระบุตำแหน่งพื้นที่ที่ต้องการแจ้งเรื่อง แนบรูปถ่ายประกอบคำอธิบายได้อีกด้วย [su_spacer size=”20″]
เมื่อประชาชนแจ้งเรื่อง ˃ ระบบแจ้งเตือนส่งเรื่องไปให้ระบบของรัฐบาลท้องถิ่น ˃ ระบบรัฐบาลท้องถิ่นส่งเรื่องต่อไปยังระบบที่เกี่ยวข้อง ˃ ระบบส่งเรื่องไปยังบริษัทที่รับผิดชอบ ˃ บริษัทแก้ไขปัญหา ˃ เทศบาลกรุงมาดริดตรวจสอบคุณภาพ โดยในแต่ละครั้งที่ประชาชนแจ้งเรื่อง ระบบจะส่งข้อความแจ้งตอบกลับมาว่าได้รับเรื่องที่แจ้งพร้อมรหัสแจ้งเรื่อง และส่งข้อความมาเป็นระยะ ๆ เพื่อรายงานความคืบหน้า ซึ่งประชาชนสามารถใช้รหัสแจ้งเรื่องติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการของเทศบาลกรุงมาดริดได้อีกด้วย [su_spacer size=”20″]
2. MaaS Madrid
กรุงมาดริดเป็นเมืองที่มีการคมนาคมและการขนส่งดีที่สุดอันดับ 9 ของโลก (ตามการประเมินของ IESE) โดยเมื่อปี 2561 แอปพลิเคชั่น MaaS Madrid เป็นหนึ่งตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นว่ากรุงมาดริดมีการขนส่งหลากรูปแบบ ครอบคลุมและเอื้อต่อการเดินทางของประชาชนจริง ๆ บริษัท Empresa Municipal de Transporte (EMT) หรือบริษัทผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ [su_spacer size=”20″]
กรุงมาดริด EMT พัฒนาแอปพลิเคชั่น MaaS Madrid ขึ้นมา โดยรวบรวมข้อมูลการขนส่งสาธารณะหลากหลายรูปแบบที่มีในกรุงมาดริดเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งการขนส่งสาธารณะแบบดั้งเดิม (รถไฟ รถไฟใต้ดิน รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่) และการขนส่งรูปแบบใหม่ (อาทิ รถเช่า รถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สกูตเตอร์ไฟฟ้า) เพื่อให้ผู้สัญจรสามารถวางแผนการเดินทางได้ถูกต้องตามเวลาจริง [su_spacer size=”20″]
จุดเด่นของแอปพลิเคชั่นนี้คือผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลวิธีการเดินทางหลายรูปแบบได้ผ่านแอปพลิเคชั่นเดียว แทนที่จะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นของหลายบริษัทไว้ในสมาร์ทโฟน ทั้งนี้ เทศบาลกรุงมาดริดและบริษัท EMT เพิ่งเปิดตัวแอปพลิเคชั่นนี้ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยเน้นว่าเครื่องมือนี้จะช่วยส่งเสริมการขนส่งอย่างยั่งยืนของเมืองหลวง และสอดคล้องกับ 21 มาตรการเพื่อปรับปรุงการเคลื่อนที่ในกรุงมาดริดภายใต้แผน A ว่าด้วยคุณภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Plan A for Air Quality and Climate Change) ของเทศบาลกรุงมาดริด ซึ่งเทศบาลให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในการพัฒนานโยบายอันจะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบเมืองแบบใหม่เป็นสำคัญ [su_spacer size=”20″]
MaaS เป็นคำย่อมาจากคำว่า Mobility as a service หรือแนวคิดการมองคมนาคมว่าเป็นการบริการ โดยมองว่าผู้ใช้ต้องการเดินทาง (Mobility) และให้ความสำคัญต่อความสะดวกสบายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง โดยไม่เกี่ยงว่าใช้รูปแบบหรือยานพาหนะแบบไหนในการเดินทาง ปัจจุบัน แอปพลิเคชั่น MaaS Madrid กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาระยะที่ 2 โดยได้เพิ่มเติมข้อมูลรูปแบบการเดินทางเพิ่มขึ้น อาทิ รถไฟ รถไฟใต้ดิน รถโดยสารประจำทางของบริษัท EMT แท็กซี่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ สกู๊ตเตอร์ของหลายบริษัท โดยผู้ใช้งานยังสามารถค้นหาข้อมูลที่จอดรถ สถานีเติมไฟรถยนต์ไฟฟ้า คุณภาพอากาศหรือสภาพการจราจรได้อีกด้วย ซึ่งทำให้สามารถตัดสินใจได้ว่าควรเลือกวิธีการเดินแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด [su_spacer size=”20″]
ในการค้นหาเส้นทางและวิธีการเดินทาง ผู้ใช้งานจะเลือกจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทางของการเดินทาง และแอปพลิเคชั่นจะแสดงวิธีการเดินทางที่เหมาะสมที่สุดตามการตั้งค่าที่ผู้ใช้เลือกไว้ อาทิ เส้นทางที่เร็วที่สุด ราคาถูกที่สุด สร้างมลภาวะน้อยที่สุด หรือดีต่อสุขภาพมากที่สุด คาดกันว่าภายในปี 2562 จะสามารถคำนวณค่าโดยสาร จองยานพาหนะและชำระค่าโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน MaaS Madrid หรือผ่านแอปพลิเคชั่นของบริษัทผู้ให้บริการได้อีกด้วย [su_spacer size=”20″]
และนี่ก็เป็นเพียงแค่ตัวอย่างโครงการดี ๆ ของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในกรุงมาดริดที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งไทยอาจนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศต่อไปได้ ในสเปนยังมีโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหลายแห่งที่น่าสนใจอย่างเช่นในนครบาร์เซโลนา หากผู้อ่านสนใจสามารถรับชมรายการ “โลก 360 องศา” ตอน Barcelona Smart City ตัวอย่างดี ๆ ของสเปนได้ที่ https://youtu.be/SrTaBOChaqI [su_spacer size=”20″]
นอกจากนี้ หากใครมีโปรเจ็คน่าสนใจหรืออยากได้ไอเดียดี ๆ เกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะ สเปนก็มีกำหนดจัดงาน Smart City Expo World Congress (http://www.smartcityexpo.com/) เป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จะจัดขึ้นที่นครบาร์เซโลนา ระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2562 งานน่าสนใจ ทันกระแสโลก 4.0 แบบนี้จัดว่าพลาดไม่ได้ [su_spacer size=”20″]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด