เมื่อตอนที่แล้ว ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปนได้นำเสนอ “ขยายธุรกิจฮาลาลไทย ตอน 2: เขตอุตสาหกรรมฮาลาลเมืองกอร์โดบา และโอกาสสำหรับนักลงทุนไทย” ในตอนนี้ ศูนย์ฯ จะมานำเสนอข้อมูลการขยายตลาดสินค้าและธุรกิจฮาลาลไทยผ่านท่าเรืออัลเฆซีราส (Puerto de Algeciras) ทางตอนใต้ของสเปน เพื่อไปยังตลาดต่าง ๆ ทั้งในสเปน ยุโรปใต้ แอฟริกาและตะวันออกกลาง [su_spacer size=”20″]
ท่าเรืออัลเฆซีราส เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ตั้งอยู่ในจังหวัดกาดิซ แคว้นอันดาลูเซียของสเปน ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ของเส้นทางการค้าระหว่างยุโรปใต้กับแอฟริกา เชื่อมต่อเส้นทางการเดินเรือและการค้าในช่องแคบยิบรอลตาร์ ระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับมหาสมุทรแอตแลนติก [su_spacer size=”20″]
เมื่อปี 2560 ท่าเรืออัลเฆซีราสเป็นท่าเรือที่มีการขนส่งสินค้ามากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในแถบเมดิเตอร์เรเนียนและอันดับ 4 ในยุโรปด้วยปริมาณการขนส่งรวม 101.5 ล้านตัน ดำเนินการด้วยระบบกึ่งอัตโนมัติ คือใช้เครื่องจักรกลประกอบกับแรงงานคน เพื่อขนถ่ายตู้สินค้าระหว่างจุดต่าง ๆ ภายในท่าเรือ และมีเส้นทางการขนส่ง 29 เส้นทาง เชื่อมต่อท่าเรือ 201 แห่งใน 78 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในแอฟริกา อีกทั้งยังเป็นที่รวมบริการของบริษัทขนส่งทางเรือยักษ์ใหญ่ เช่น MAERSK (เดนมาร์ก) MSC (อิตาลี) COSCO (จีน) และ CMA CGM (ฝรั่งเศส) [su_spacer size=”20″]
ไม่เพียงแต่มีจุดเด่นเกี่ยวกับทำเลที่ตั้ง และระบบบริหารจัดการภายในท่าเรือเท่านั้น แต่ความพิเศษของท่าเรือแห่งนี้อีกประเด็นคือ การได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลจากสถาบันฮาลาลแห่งเมืองกอร์โดบา เมื่อเดือนเมษายน 2561 ด้านการเป็นท่าเรือผู้โดยสารและขนส่งสินค้าฮาลาล และนับเป็นท่าเรือแห่งแรกของสเปนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านฮาลาลจากสถาบันฮาลาลแห่งเมืองกอร์โดบา การท่าเรือสเปนได้วางแผนให้บริการฮาลาลของท่าเรือแห่งนี้ เชื่อมโยงไปยังศูนย์โลจิสติกส์อ่าวอัลเฆซีราสและเขตอุตสาหกรรมฮาลาลกอร์โดบา (Clúster Halal Córdoba) ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ณ ศูนย์โลจิสติกส์กอร์โดบา ภายใต้เครือข่ายโลจิสติกส์ของแคว้นอันดาลูเซีย (Red logística de Andalucía) ที่ได้นำเสนอไปแล้วในบทความตอนที่ 1 ซึ่งจะทำให้การผลิตสินค้าฮาลาลจากเขตอุตสาหกรรมฮาลาล และการขนส่งไปยังผู้บริโภคชาวมุสลิม ทั้งในสเปน ยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง ผ่านท่าเรืออัลเฆซีราส เป็นไปตามมาตรฐานของสินค้าและธุรกิจฮาลาลอย่างครบวงจร [su_spacer size=”20″]
การบริการด้านฮาลาลของท่าเรืออัลเฆซีราสยังเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยนับตั้งแต่ได้รับใบรับรองมาตรฐานฮาลาล ท่าเรือได้มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์และสานความร่วมมือกับบริษัทผู้ประกอบการต่าง ๆ ใน supply chain ให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสของธุรกิจฮาลาลที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งให้บริษัทที่มีส่วนร่วมตลอด supply chain ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลสำหรับสินค้าและธุรกิจของตน เพื่อนำไปสู่การบริการที่เป็นไปตามมาตรฐานฮาลาลทุกขั้นตอนนับตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค โดยขณะนี้ บริษัทโลจิสติกส์ของสเปนได้เริ่มให้ความสำคัญกับการได้รับมาตรฐานฮาลาล อาทิ บริษัท TIBA ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการด้านการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ของสเปนได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลแล้ว (เป็นบริษัทที่มีลูกค้าในไทยด้วย) [su_spacer size=”20″]
แม้ในปัจจุบัน ผู้นำเข้าสินค้าฮาลาลยังไม่ได้บังคับเข้มงวดกับขั้นตอนการขนส่งสินค้าฮาลาล แต่มีแนวโน้มว่าประเทศมุสลิมและผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับขั้นตอนการขนส่งสินค้าด้วยเพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจต่อสินค้าว่ายังคงความเป็นฮาลาลตลอดทั้ง Supply chain ดังนั้น ผู้ส่งออกจึงควรเตรียมความพร้อมรับกับเงื่อนไขการส่งออก-นำเข้าสิ้นค้าฮาลาลที่จะเปลี่ยนแปลงไป [su_spacer size=”20″]
นอกจากนโยบายการให้บริการท่าเรือฮาลาลแล้ว ท่าเรืออัลเฆซีราสยังมีแผนการขยายท่าเรือแห่งที่ 3 เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการขนสินค้าประเภทตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ โดยเชื่อมโยงกับศูนย์โลจิสติกส์อ่าวอัลเฆซีราส (Área Logística Bahía de Algeciras) เพื่อทำให้แคว้นอันดาลูเซียเป็นศูนย์โลจิสติกส์ที่สำคัญของยุโรปใต้ และเป็นประตูการค้าในแถบเมดิเตอร์เรเนียน สำหรับรับ-ส่งต่อสินค้าที่มาจากเอเชียและอเมริกาไปยังสเปน ยุโรปและแอฟริกา โดยภายในศูนย์โลจิสติกส์ฯ มีทางรถไฟที่เชื่อมต่อกับ Trans-European Transport Networks (TEN-T) ซึ่งเป็นนโยบายของคณะกรรมาธิการยุโรปที่จะพัฒนาเส้นทางการคมนาคมเชื่อมโยงทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศสำหรับขนส่งผู้โดยสารและสินค้าภายในทวีปยุโรปอีกด้วย [su_spacer size=”20″]
ทั้งนี้ ในส่วนของไทย ในปี 2560 มีสินค้านำเข้าจากไทยที่ผ่านท่าเรืออัลเฆซีราสประมาณ 8 พันตัน ได้แก่ ข้าว (ร้อยละ 43) ปลากระป๋อง (ร้อยละ 20 )เครื่องเทศ (ร้อยละ 5) เหล็กและเหล็กกล้า (ร้อยละ 4) และอื่น ๆ (ร้อยละ 28) ส่วนสินค้าส่งออกจากท่าเรืออัลเฆซีราสไปไทยมีประมาณ 6 พันตัน ได้แก่ สีผสมอาหาร (ร้อยละ 28) น้ำมันมะกอก (ร้อยละ 13) กรดโพลีคาร์บอกซิลิก (Polycarboxylic acids) (ร้อยละ 11) ซีเมนต์ คอนกรีต หินเทียม (ร้อยละ 10) ผักแปรรูป (ร้อยละ 9) อาหารปรุงสำเร็จ (ร้อยละ 6) และอื่น ๆ (ร้อยละ 23) ทั้งนี้ ระยะเวลาขนส่งสินค้าจากไทยมายังท่าเรืออัลเฆซีราส ใช้เวลาประมาณ 21 วันเท่านั้น โดยมีบริษัทผู้ให้บริการเส้นทางเดินเรือดังกล่าว ได้แก่ MAERSK, MSC, CMA CGM, COSCO, Evergreen เป็นต้น ดังนั้น นอกจากผู้ประกอบการสินค้าฮาลาล ผู้ส่งออกไทยยังอาจใช้บริการของท่าเรือแห่งนี้ เพื่อส่งสินค้าไทยเข้าสู่สเปน ยุโรปใต้ แอฟริกาและตะวันออกกลาง ได้ด้วย [su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน