สถาบันฮาลาลแห่งเมืองกอร์โดบาและเขตอุตสาหกรรมฮาลาลเมืองกอร์โดบา หนึ่งหน่วยงานกับอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญต่อสินค้าและธุรกิจฮาลาลทางตอนใต้ของสเปน รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อสินค้าและธุรกิจฮาลาลของไทยที่กำลังมองหาลู่ทางในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนในสาขานี้กับสเปน รวมถึงประเทศต่าง ๆ ทางตอนเหนือของแอฟริกาและตะวันออกกลาง [su_spacer size=”20″]
สถาบันฮาลาลแห่งเมืองกอร์โดบา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 ภายใต้กฎหมายสเปนเลขที่ 26/92 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2535 เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการอิสลามสเปน (Junta Islámica) มีภารกิจหลักในการทำหน้าที่เป็นผู้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าและธุรกิจฮาลาลให้แก่ผู้ประกอบการในสเปน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคชาวมุสลิมต่อสินค้าและบริการที่ได้รับ โดยสถาบันฯ ยังได้ขยายฐานการให้บริการไปยังประเทศในแถบลาตินอเมริกา เช่น เม็กซิโก เป็นต้น [su_spacer size=”20″]
ปัจจุบันสถาบันฯ ได้ออกใบรับรองมาตรฐานฮาลาลให้ธุรกิจกว่า 350 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าและธุรกิจจากภาคอุตสาหกรรมอาหาร (ร้อยละ 90) ตามด้วยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว (ร้อยละ 4.7) สินค้าเทคโนโลยีและวิศวกรรม (ร้อยละ 2.8) สินค้าเครื่องสำอางและเวชภัณฑ์ (ร้อยละ 2.2) และอื่น ๆ (ร้อยละ 0.3) โดยใบรับรองมาตรฐานฮาลาลที่ออกโดยสถาบันฯ จะมีอายุ 1 ปี และจะมีการตรวจสอบมาตรฐานเป็นรายปีเพื่อต่ออายุใบรับรอง [su_spacer size=”20″]
สถาบันฮาลาลแห่งเมืองกอร์โดบาเป็นสมาชิกของหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องการรับรองมาตรฐานฮาลาลระหว่างประเทศ อาทิ Spanish Association for Standardization – UNE (สเปน), The European Associaton of Halal Certifiers – AHC-EUROPE (ตุรกี), World Halal Food Council – WHFC (อินโดนีเซีย) และ International Halal Integrity Alliance – IHIA (มาเลเซีย) อีกทั้งยังได้รับการรับรอง [su_spacer size=”20″]
จากหน่วยงานด้านการรับรองมาตรฐานฮาลาลในต่างประเทศ อาทิ กระทรวงสาธารณสุขบาห์เรน กระทรวงสาธารณสุขกาตาร์ เป็นต้น นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังมีความร่วมมือกับสถาบันฮาลาลในหลายประเทศที่รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย ทำให้สินค้าและธุรกิจที่ได้รับรองมาตรฐานฮาลาลจากสถาบันแห่งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นที่ยอมรับสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิมในสเปนเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในยุโรป แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลางได้ด้วย [su_spacer size=”20″]
นอกจากการรับรองสินค้าแล้ว สถาบันยังได้ให้การรับรองมาตรฐานเกี่ยวกับธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ฮาลาลเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวชาวมุสลิม ส่งเสริมการท่องเที่ยวฮาลาลในสเปน โดยเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศซึ่งเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาอิสลาม โดยในส่วนของธุรกิจโรงแรม มีโรงแรมในสเปนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลจากสถาบัน ได้แก่ โรงแรม Alanda Hotel Marbella เมือง Marbella ทางตอนใต้ของประเทศ (http://www.alandahotelmarbella.com/) โรงแรม Costa del Sol Torremolinos เมือง Ma,laga ทางตอนใต้ของสเปน (http://www.cdshotels.co/) โรงแรม Mandarin Oriental Barcelona (https://www.mandarinoriental.es/) ณ นครบาร์เซโลนา เป็นต้น [su_spacer size=”20″]
ในด้านการรับรองมาตรฐานร้านอาหารฮาลาล สถาบัน แบ่งมาตรฐานร้านอาหารฮาลาลออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ (1) Halal Certified คือร้านอาหารที่จำหน่ายเมนูอาหารฮาลาล และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นให้แก่ลูกค้าที่เป็นมุสลิม เช่น ห้องละหมาด (2) Self-Certified คือร้านอาหารที่จำหน่ายเมนูอาหารฮาลาล และเจ้าของร้านซึ่งเป็นชาวมุสลิมเป็นผู้รับรองร้านอาหารของตนเอง (3) Muslim Friendly คือร้านอาหารที่จำหน่ายเมนูอาหารฮาลาล แต่อาจมีการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (4) Pork-free คือร้านอาหารที่ไม่ได้จำหน่ายเมนูอาหารฮาลาล แต่จำหน่ายอาหารที่ไม่มีเนื้อหมูเป็นส่วนประกอบ และอาจมีการให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้แก่บรรดาร้านอาหารที่จะพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของร้านให้เป็น Halal Certified ต่อไป [su_spacer size=”20″]
สถาบันยังมีการออกใบรับรองมาตรฐานฮาลาลให้แก่บริษัทจัดนำเที่ยวสำหรับกลุ่มมุสลิมฮาลาลและให้กับท่าเรือเมืองอัลเฆซีราส ซึ่งเป็นท่าเรือที่เชื่อมระหว่างสเปนกับแอฟริกา ซึ่งนอกจากจะรองรับการเดินทางท่องเที่ยวที่ต้องการบริการด้านฮาลาลแบบครบวงจรแล้ว ท่าเรือยังจะเป็นช่องทางการนำเข้า-ส่งออกสินค้าฮาลาล เพื่อให้ผู้บริโภคสินค้าฮาลาลมั่นใจในกระบวนการในสินค้าว่าไม่มีการปนเปื้อนใดๆ [su_spacer size=”20″]
ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเปิดตลาดสินค้าและฮาลาลในสเปน อาจพิจารณาขอรับการรับรองมาตรฐานสินค้าและธุรกิจฮาลาลจากสถาบันฮาลาลแห่งเมืองกอร์โดบา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคกลุ่มนี้ การขอรับการรับรองจากสถาบันฮาลาลฯ ประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้ (1) การยื่นขอรับการรับรอง (2) การตรวจสถานที่เบื้องต้น (3) การตรวจสอบเริ่มแรก (4) การมอบใบรับรองมาตรฐาน (5) การตรวจสอบควบคุมการใช้ใบรับรองมาตรฐาน (6) การขึ้นทะเบียนสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน (7) การใช้ตรามาตรฐานฮาลาล (8) การปฏิบัติตามพันธกรณีของผู้ขอรับการรับรอง และผู้ประกอบการไทยท่านใดที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.institutohalal.com/benefits/?lang=en [su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน