ท่าเรือบิลเบาตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเนรบิออนและทะเลกันตาเบรียน บริเวณเมืองซันตูร์ที จังหวัดบิซกายา แคว้นบาสก์ ในภาคเหนือของสเปน และอยู่ห่างจากตัวเมืองบิลเบาเพียงแค่ 15 กิโลเมตรเท่านั้น ทั้งนี้ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ท่าเรือบิลเบาได้ขยายพื้นที่การให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการถมทะเลเพื่อสร้างท่าเทียบเรือและคลังสินค้าให้รองรับการขนถ่ายสินค้าได้ปริมาณมากขึ้น โดยในปี 2564 ท่าเรือมีพื้นที่ทั้งหมด 405 เฮกเตอร์ และมีความยาวของท่าเทียบเรือรวมทั้งหมด 21 กิโลเมตร
.
ท่าเรือบิลเบาบริหารจัดการโดยการท่าเรือบิลเบา (Port Authority of Bilbao) ซึ่งเป็นหนึ่งในการท่าเรือ 28 แห่งของสเปนที่ขึ้นตรงกับกระทรวงคมนาคม การเคลื่อนย้ายและการพัฒนาเมือง ถือเป็นท่าเรือสำคัญทางตอนเหนือของสเปน โดยจากสถิติเมื่อปี 2563 ท่าเรือบิลเบาเป็นทางผ่านของสินค้าเข้าและออกจากสเปนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศ รองจากท่าเรืออัลเฆซีราส ท่าเรือบาเลนเซีย ท่าเรือบาร์เซโลนา ท่าเรือการ์ตาเฆนา และท่าเรืออูเอลบา ที่สำคัญท่าเรือบิลเบายังมีที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างสเปน กับทั้งยุโรป อเมริกา และแอฟริกา โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าระหว่างสเปนกับกลุ่มประเทศในแถบแอตแลนติกเหนือด้วย
.
เมื่อปี 2564 ท่าเรือบิลเบา มีปริมาณการขนส่งสินค้ารวม 31.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากปี 2563 ที่อยู่ที่ 29.6 ล้านตัน ซึ่งนับตั้งแต่การเกิดวิกฤติ COVID-19 ปริมาณการขนส่งสินค้าของท่าเรือได้ลดลงไปประมาณร้อยละ 10 แต่ในปัจจุบันสามารถฟื้นฟูปริมาณการขนส่งสินค้ากลับคืนมาได้แล้วประมาณร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2562 และคาดการณ์ว่าภายในปี 2566 ท่าเรือบิลเบาจะสามารถฟื้นปริมาณการขนส่งสินค้าให้กลับเข้ามาสู่ระดับก่อนการเกิดวิกฤติ COVID-19 ได้
.
สินค้าหลัก 10 ประเภทที่ส่งผ่านท่าเรือแห่งนี้ ในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ สินค้าเหล็ก เคมีภัณฑ์ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา แร่ธาตุชนิดอื่นที่ไม่ใช่โลหะ น้ำมันเบนซิน ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยสินค้าในกลุ่มดังกล่าว มีสัดส่วนรวมกันมากถึงร้อยละ 72 ของน้ำหนักสินค้าทั้งหมดที่ส่งผ่านท่าเรือ โดยมีตลาดสำคัญ ได้แก่ รัสเซีย สหราชอาณาจักร เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา สำหรับในส่วนของไทย ในปี 2564 มีการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือบิลเบาประมาณ 73,296 ตัน
.
จุดเด่นของท่าเรือบิลเบา
.
ท่าเรือบิลเบาถือเป็นหนึ่งในท่าเรือหลักของสเปนบนเส้นทางเชื่อมต่อทางรางของระเบียงแอตแลนติก (Atlantic Corridor) ที่ผูกการขนส่งสินค้าระหว่างสเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศสและเยอรมนีเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ ท่าเรือบิลเบายังเป็นผู้นำในการพัฒนาการขนส่งรูปแบบผสมผสาน (intermodal corridors) ทั้งการขนส่งทางเรือ ทางรถไฟและทางบก ที่เชื่อมต่อกับท่าเรือบกอีก 2 แห่ง คือ Bilbao-Arasur และ Bilbao-Pancorbo และยังเป็นท่าเรือศูนย์กลางพลังงานลม (Wind Hub Port) เนื่องจากมีทั้งแหล่งผลิตพลังงานลม โรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์กังหันลม รวมถึงคลังสินค้าสำหรับส่งสินค้าเกี่ยวกับพลังงานลมออกไปต่างประเทศในแถบยุโรปเหนือและสกอตแลนด์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณท่าเรืออีกด้วย
.
ในด้านสิ่งแวดล้อม ท่าเรือบิลเบาก็มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากเพราะเป็นท่าเรือแห่งแรกของโลกที่ได้รับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม Environmental Product Declaration (EPD) เมื่อปี 2562 โดยผ่านการรับรองทั้งด้านการผลิตพลังงานเชื้อเพลิง การใช้น้ำ การก่อสร้างท่าเรือและอาคาร คลังเก็บสินค้าและประภาคาร การทำเหมืองเรือขุด การบำรุงรักษาเครื่องจักร อาคารและยานพาหนะ การใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า การขนส่งพนักงาน การเก็บและการบำบัดขยะ ซึ่งล้วนเป็นผลจากความร่วมมือของบริษัท 50 แห่งภายในเครือข่ายที่มุ่งมั่นให้ท่าเรือแห่งนี้ เป็นท่าเรือสีเขียวนั่นเอง
.
นอกจากนี้ ท่าเรือยังมีการดำเนินการในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะภายในท่าเรือที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงทางเลือกมากถึงร้อยละ 90 การตั้งเป้าหมายที่จะใช้ไฟฟ้าทั้งหมดจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานลม ซึ่งมีการติดตั้งระบบมาตั้งแต่ปี 2548 และปัจจุบันสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 17,500 เมกะวัตต์-ชั่วโมง/ปี รวมถึงการมีส่วนร่วมในโครงการต่าง ๆ ในของสหภาพยุโรปที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด เช่น การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพและ LNG การปรับปรุงการประเมินคุณภาพอากาศและระบบควบคุมคุณภาพอากาศ การติดตั้งหลอดไฟ LED ภายในท่าเรือ เป็นต้น
.
สำหรับปี 2565 ท่าเรือบิลเบายังคงให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนที่จะจัดทำระบบจ่ายพลังงานบนชายฝั่ง (Onshore Power Supply) ณ ท่าเทียบเรือแห่งใหม่ เพื่อให้เรือเดินสมุทรสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายไฟฟ้าของท่าเรือได้ ซึ่งจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและเสียงรบกวนในขณะที่เรือเข้าจอดเทียบท่า ส่วนในปี 2566 การท่าเรือบิลเบาได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาการเป็นศูนย์ไฮโดรเจนสีเขียวและโรงงานผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์ โดยได้เข้าเป็นสมาชิกโครงการ Basque Hydrogen Corridor ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจน โดยการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการใช้พลังงานไฮโดรเจนในแคว้นบาสก์ ควบคู่ไปกับเป้าหมายในการมุ่งกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ โดยโครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจแคว้นบาสก์จากวิกฤต COVID-19 อีกด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถพิจารณาศึกษาและใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงดังกล่าวของสเปนอันเกี่ยวโยงกับภูมิภาคยุโรปเพื่อต่อยอดการพัฒนาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
.
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด