อุทยานเทคโนโลยีสุขภาพกรานาดา (PTS Granada)
Parque Tecnológico de Ciencias de la Salud (PTS Granada) หรืออุทยานเทคโนโลยีสุขภาพ กรานาดา ตั้งอยู่ในจังหวัดกรานาดา แคว้นอันดาลูเซีย (ทางใต้ของสเปน) บนพื้นที่ 625,000 ตารางเมตร[1] เป็นอุทยานเทคโนโลยีที่เน้นเฉพาะด้านสุขภาพแห่งแรกของสเปน และไม่กี่แห่งในโลก โดย PTS Granada มีเป้าหมายหลักได้แก่ การขับเคลื่อนแบรนด์ Granada Salud[2] (Granada Health) ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง การส่งเสริมการวิจัยสหวิทยาการด้านชีวการแพทย์ในระดับนานาชาติ การคุ้มครองและถ่ายโอนความรู้ด้านสุขภาพและชีวการแพทย์ การส่งเสริมเครือข่ายธุรกิจด้านชีวการแพทย์ให้แข็งแกร่ง และการเป็นศูนย์บริการ ด้านการแพทย์ที่ทันสมัย
PTS Granada แบ่งโครงสร้างการดำเนินการออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
1. การวิจัย ภายใน PTS Granada มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมให้ จังหวัดกรานาดาเป็นผู้นำการวิจัยด้านชีวเทคโนโลยีและการแพทย์ ควบคู่ไปกับการเป็นศูนย์กลางการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัย บุคลากรด้านชีวการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการหาแหล่งเงินทุนให้แก่โครงการวิจัยของมหาวิทยาลัย/หน่วยวิจัยด้วย ตัวอย่างสถาบันวิจัยภาครัฐที่จัดตั้งในอุทยานแห่งนี้ อาทิเช่น ศูนย์วิจัยชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยกรานาดา (The Biomedical Research Center – CIBM) สถาบันปรสิตวิทยาและชีวการแพทย์ López Neyra (The Institute of Parasitology and Biomedicine “López Neyra” – IPBLN) ของสภาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สเปน (The Spanish National Research Council – CSIC) ศูนย์วิจัยการพัฒนาอาหารฟังก์ชั่น (The Technology Center for Functional Food Research and Development – CIDAF) เป็นต้น
2. การพัฒนาธุรกิจ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา PTS Granada ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งบริษัทเวชภัณฑ์ ชีวการแพทย์ อาหารและเทคโนโลยีอาหาร โดยมีบริษัทที่มีชื่อเสียงที่ได้เข้ามาตั้งใน พื้นที่ อาทิ Business Innovation Center (BIC Granada) บริษัท Laboratorios Farmacéuticos ROVI (บริษัทสเปนที่ได้รับเลือกให้ผลิตวัคซีนของบริษัท Moderna จากสหรัฐฯ) บริษัท Neurobio บริษัท Servilens Fit & Cover บริษัท Atrys Health และบริษัท Telefónica I+D เป็นต้น
3. การศึกษา บนพื้นที่ 98,000 ตารางเมตร ภายใน PTS Granada ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์รวมคณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาตร์สุขภาพ คณะทันตแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยกรานาดา และเป็นตั้งมูลนิธิ IAVANTE (ขึ้นตรงกับรัฐบาลแคว้นอันดาลูเซีย) ที่มีหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาและอบรมแบบครบวงจรให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ผ่านวิธีการเรียนรู้ที่ทันสมัยในศูนย์การจำลองและนวัตกรรมเทคโนโลยี มัลติฟังก์ชันขั้นสูง (CMAT)
4. การบริการทางการแพทย์ เป็นสถานที่รวมศูนย์การให้บริการทางการแพทย์ระดับต้น ๆ ของแคว้น อันดาลูเซีย อาทิ โรงพยาบาล Hospital Campus de la Salud สถาบัน Instituto de Medicina Legal de Granada (ให้บริการด้านการชันสูตรศพ) ศูนย์ CMAT
นอกจากนี้ องค์กรภาครัฐและเอกชนที่จัดตั้งใน PTS Granada ยังมีการให้บริการในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
1) บริการวิจัยและพัฒนา เช่น การใช้กล้องจุลทรรศน์ จีโนมิกส์ การเพาะเลี้ยงเซลล์
2) บริการด้านธุรกิจ เช่น บริการบ่มเพาะธุรกิจ การพัฒนาธุรกิจ
3) บริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น แหล่งเงินทุนสำหรับการวิจัย การถ่ายโอนเทคโนโลยี
4) บริการอบรมเฉพาะด้าน ได้แก่ การอบรมบุคลากรทางการแพทย์ของมูลนิธิ IAVANTE
5) บริการทั่วไป เช่น บริการความปลอดภัย บริการทางการแพทย์ สมาคมธุรกิจ โรงแรม
จะเห็นได้ว่า PTS Granada พยายามที่จะสร้างระบบนิเวศน์ของอุทยานให้พร้อมรองรับกับการเป็นเมืองสุขภาพที่มีความโดดเด่นทั้งด้านสภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานและการบริการด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ครบวงจรรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
ปัจจุบัน PTS Granada ดำเนินบริหารจัดการโดยมูลนิธิอุทยานเทคโนโลยีสุขภาพกรานาดาแห่งแคว้นอันดาลูเซีย (Fundación Pública Andaluza Parque Tecnológico de la Salud de Granada) ซึ่งมีหลายหน่วยงานของท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม อาทิ รัฐบาลแคว้นอันดาลูเซีย มหาวิทยาลัยกรานาดา สภาจังหวัด กรานาดา เทศบาลเมืองกรานาดา เทศบาลเมืองอัรมิยา และเทศบาลเมืองโอกิฆาเรส เป็นต้น ในระดับประเทศ PTS Granada มีร่วมมือที่ใกล้ชิดกับหลายหน่วยงาน อาทิ สมาพันธ์บริษัทกรานาดา หอการค้ากรานาดา และสภาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สเปน เป็นต้น
นอกจากนี้ อุทยานแห่งนี้ยังมีสถานะเป็นสมาชิกและมีบทบาทร่วมกับหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ International Association of Science Parks and Areas of Innovation (IASP) Association of University Research Parks (AURP) สมาคมอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสเปน (APTE) สมาคมอุตสาหกรรมชีวภาพสเปน (ASEBIO) เครือข่ายพื้นที่เทคโนโลยีแห่งอันดาลูเซีย (RETA) และมูลนิธิการวิจัยชีวการแพทย์แห่งอันดาลูเซียตะวันออก (FIBAO) ซึ่งก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานของ PTS Granada เป็นที่ยอมรับในวงการสุขภาพ
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีนโยบายขับเคลื่อนและส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โดยหนึ่งในโครงการภายใต้นโยบายดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาเมืองสุขภาพ (Medical City) ในพื้นที่โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของบริการด้านการแพทย์ที่ทันสมัยและครบวงจรในอนาคต ซึ่งอุทยานเทคโนโลยีสุขภาพกรานาดาของสเปนอาจสามารถใช้เป็นแม่แบบในการพัฒนาเมืองสุขภาพของไทยได้
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ PTS Granada ได้ที่https://www.ptsgranada.com/
ที่มาของภาพ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด