เมื่อเดือนตุลาคม 2567 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้จัดทําบทวิเคราะห์ Policy Pivot, Rising Threats โดยเปิดเผยว่า เศรษฐกิจสเปนจะขยายตัวมากที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยูโรโซน โดยได้ประเมินการขยายตัวของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสเปนในปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากการคาดการณ์ของ IMF เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567) มูลค่าการขยายตัว GDP ของสเปนดังกล่าวสูงกว่าการขยายตัว GDP ของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.8 และสูงกว่ามูลค่า GDP ของกลุ่มประเทศยูโรโซน ซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 อีกด้วย กองทุน IMF ยังคาดการณ์ว่ามูลค่า GDP ของสเปนในปี 2568 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ขณะเดียวกันมูลค่า GDP โลกจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ในปี 2567 และจะทรงตัวในอัตราเดิมในปี 2568 ทั้งนี้ ในส่วนของไทย มูลค่า GDP จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ในปี 2567 และร้อยละ 3 ในปี 2568
หากเจาะลึกตัวเลข GDP เฉพาะกลุ่มประเทศยูโรโซนจะพบว่า ในปีนี้กลุ่มประเทศที่เคยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจเมื่อสิบกว่าปีก่อน เช่น สเปน และกรีซ กลับเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี ในขณะที่เยอรมนี ซึ่งมีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มประเทศยูโรโซนและประเทศอื่น ๆ ที่มีความร่ํารวยทางเศรษฐกิจอย่างกลุ่มประเทศยุโรปเหนือกลับมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ํา (อัตราการขยายตัว GDP ของเยอรมนี (ขยายตัวที่ร้อยละ 0.01) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 1.1) อิตาลี (ร้อยละ 0.67) และเนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 0.8))
ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจสเปนจะเริ่มฟื้นจากวิกฤติโควิด-19 ได้ช้ากว่ากลุ่มประเทศยูโรโซน แต่เมื่อเทียบอัตราการขยายตัวของ GDP จากปี 2562 ถึงปัจจุบัน GDP สเปนขยายตัวร้อยละ 5.7 ในขณะที่อัตราการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงเดียวกันของกลุ่มประเทศยูโรโซนอยู่ที่ร้อยละ 4.2 เท่านั้น
ปัจจัย 4 ข้อที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจสเปนเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ดังนี้
(1) แรงงานข้ามชาติเข้ามาในสเปน
ข้อมูลของศูนย์ Funcas (ศูนย์ think tank ด้านการวิจัยทางเศรษฐกิจและสังคมสเปน) รายงานว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีแรงงานข้ามชาติที่มีอายุในช่วงวัยทํางานเข้ามาในสเปนจํานวนกว่า 7 แสนคน ซึ่งส่งผลให้สเปนมีประชากรวัยทํางานเพิ่มขึ้น รวมถึงส่งผลให้จํานวนประชากรในสเปนพุ่งสูงเกือบ 49 ล้านคน แม้ว่าประชากรกลุ่มนี้ส่วนมากจะเป็นทักษะแรงงานต่ําและประกอบอาชีพที่มีค่าจ้างต่ําก็ตาม นอกจากนี้ แรงงานข้ามชาติในสเปนยังมีส่วนสนับสนุนตลาดแรงงานในสเปนกว่าร้อยละ 78 (มากที่สุดในกลุ่มประเทศยุโรป) และยังพบว่า แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ที่เข้ามาในสเปนมีระดับการศึกษาที่สูงกว่าประเทศอื่นในยุโรปด้วย เช่น เยอรมนี และอิตาลี โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในสาขาโทรคมนาคม อุตสาหกรรมการผลิต การค้า และสาธารณสุข
ในส่วนของอัตราการว่างงานในสเปน ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 พบว่า ลดลงเหลือร้อยละ 11.21 นับเป็นตัวเลขที่ต่ําที่สุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 ซึ่งสาเหตุหลักที่ทําให้จํานวนประชากรแรงงานเพิ่ม สูงขึ้นสืบเนื่องมาจากแรงงานข้ามชาติเป็นหลัก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนสเปนในการเพิ่มอัตราแรงงาน โดยไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายสําหรับบริษัทและผู้ประกอบการภาคเอกชนมากจนเกินไป ซึ่งประชากรวัยทํางานชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ในรอบ 1 ปี ในขณะที่ประชากรวัยทํางานชาวสเปนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.6 เท่านั้น
(2) การท่องเที่ยว
ข้อมูลจากสํานักงานสถิติแห่งชาติสเปน (Instituto Nacional de Estadistica) เปิดเผยว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา สเปนต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจํานวน 9.6 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ ในขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 12.6 พันล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน ปี 2566 ในขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กันยายน) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนสเปนแล้วถึง 73.9 ล้านคน นับเป็นสถิติ ที่สูงที่สุดในช่วงระยะเวลา 9 เดือน หรือขยายตัวร้อยละ 10.9 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 และใช้จ่ายมากกว่า 99 พันล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า
ภาคการท่องเที่ยวจึงเป็นหนึ่งในกลไกสําคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจของสเปน อย่างไรก็ดี ยังมีการคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสเปนอาจชะลอตัวในอนาคต เนื่องจากกระแสความนิยมด้านความยั่งยืนและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่รัฐบาลสเปนเริ่มให้ความสําคัญ และในปีที่ผ่านมา ชาวสเปนในเมือง ท่องเที่ยวหลัก เช่น บาร์เซโลนา หมู่เกาะบาเลอาเรส และหมู่เกาะคานารี ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายต่อหลายครั้ง เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของชาวสเปนท้องถิ่น และยังส่งผลให้ค่าเช่าที่พักอาศัยสูงขึ้น
(3) การลงทุนจากต่างประเทศ
การลงทุนจากต่างประเทศของสเปนในปี 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 28.2 พันล้านยูโร (เทียบเท่ากับค่าเฉลี่ย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา) เมื่อจําแนกในเชิงภูมิศาสตร์พบว่า แคว้นมาดริดเป็นพื้นที่ที่ได้รับเงินลงทุนจาก ต่างประเทศมากที่สุด ด้วยมูลค่า 15.3 พันล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.3 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในสเปน ขณะที่แคว้นอื่น ๆ ที่ได้รับเงินลงทุนรองลงมา ได้แก่ แคว้นคาตาโลเนีย (4.6 พันล้านยูโร) แคว้นบาเลนเซีย (3.3 พันล้านยูโร) แคว้นบาสก์ (1.5 พันล้านยูโร) และแคว้นอันดาลูเซีย (586 ล้านยูโร) โดยการลงทุนจากต่างประเทศใน 5 แคว้นข้างต้นร่วมกัน มีสัดส่วนถึงร้อยละ 90.4 ของมูลค่าการลงทุนจาก ต่างประเทศที่สเปนได้รับทั้งหมด
ด้านแหล่งเงินลงทุน พบว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 28.9) ของการ ลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในสเปน ขณะที่ประเทศที่มีการลงทุนในสเปนรองลงมา ได้แก่ สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 13.1) เยอรมนี (ร้อยละ 10.6) และฝรั่งเศส (ร้อยละ 9.2)
ด้านสาขาธุรกิจ พบว่า การลงทุนจากต่างประเทศมากกว่าครึ่งในสเปน (ร้อยละ 54.3) อยู่ในภาคการบริการ รองลงมา คือ ภาคอุตสาหกรรม (ร้อยละ 42.2) และการก่อสร้าง (ร้อยละ 3) ตามลําดับ
นอกจากนี้ ตามข้อมูล FDI Markets ซึ่งจัดทําโดย the Financial Times Group ของสหราชอาณาจักรระบุว่า สเปนเป็นประเทศที่ได้รับการลงทุนใหม่ (greenfield investment) จากต่างชาติมากเป็น อันดับ 6 นับตั้งแต่ปี 2562 โดยในปี 2566 สเปนได้รับการลงทุนใหม่ในสาขาพลังงานทดแทน 77 โครงการ มากเป็นอันดับ 1 ของโลก (ครองอันดับร่วมกับสหรัฐ ฯ) ได้รับการลงทุนโครงการด้าน R&D มากเป็นอันดับ 3 ของโลก ได้รับการลงทุนใหม่ในสาขาปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากเป็นอันดับ 5 ของโลก รวมถึงได้รับการลงทุนโครงการด้าน ICT และโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับ 10 ของโลกอีกด้วย
(4) การใช้จ่ายของภาครัฐ
อีกหนึ่งปัจจัยสําคัญที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจสเปนขยายตัว คือ การใช้จ่ายของภาครัฐจากแผนฟื้นฟูกองทุน Next Generation EU ของสหภาพยุโรป ซึ่งสเปนจะได้รับเงินสนับสนุนทั้งหมดจํานวน 163 พันล้านยูโร (เพิ่มขึ้นร้อยละ 135 จากเดิมที่สเปนเคยขอไว้ 69.5 พันล้านยูโร เมื่อปี 2564) โดยเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สเปนได้รับเงินสนับสนุนแล้ว 48.3 พันล้านยูโร ในส่วนนี้ สหภาพยุโรปได้ดําเนินการส่งงบประมาณดังกล่าวให้สเปนในรูปแบบเงินอุดหนุนล่วงหน้า (pre-financing) และเงินอุดหนุนทั่วไป (grants) แล้ว 4 งวด จากทั้งหมด 10 งวด โดยตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณของสเปนได้แบ่งออกเป็น 2 สาขาหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านสีเขียว (green transition) ร้อยละ 40 และการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล (digital transformation) ร้อยละ 25.9 ซึ่งงบประมาณที่ได้รับจะต้องนําไปใช้จ่ายภายในปี 2569 อย่างไรก็ดี รัฐบาลสเปนก็ได้รับการวิจารณ์จากพรรค Popular Party (พรรคฝ่ายค้าน) ซึ่งได้แสดงความเห็นว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนนั้น อาจไม่ยั่งยืนสําหรับประเทศที่มีหนี้สินสูงอย่างสเปน (สเปนมีหนี้สิน ร้อยละ 102 ต่อ GDP)
ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้ และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org
ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน/สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์