ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังค่อนข้างรุนแรงในหลายประเทศ ความหวังของคนทั้งโลกที่จะชะลอหรือหยุดการระบาดคือการมีวัคซีนมาใช้ป้องกันการติดเชื้อ นานาประเทศล้วนต่างพยายามศึกษาวิจัยวัคซีนและยารักษาโรคเพื่อจัดการกับโรคนี้
[su_spacer]
[su_spacer]
วันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน จะพาท่านผู้อ่านไปรับทราบถึงบทบาทและความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ของสเปนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยวัคซีนและยารักษาโรคเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19
[su_spacer]
สเปนได้มีบทบาทในระดับนานาชาติมาตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด โดยเป็น 1 ใน 10 ประเทศแรกของโลก เช่นเดียวกับไทย ที่เข้าร่วมโครงการ Solidarity Trial หรือ “การทดลองอันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” กับองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการประเมินว่าวิธีการรักษาโควิด-19 แบบใดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยโรงพยาบาลรัฐ Hospital Clínico San Carlos ในแคว้นมาดริดเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของสเปนและแห่งที่สองของโลกที่เข้าร่วมโครงการนี้ เนื่องด้วยการดำเนินงานที่รวดเร็วในการรับมือโควิด-19 ความเป็นเลิศด้านการวิจัย การเข้าร่วมโครงการ Solidarity Trial และการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 กว่า 2,300 คนหายจากอาการโรคจึงทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้ได้รับรางวัล “España en el corazón” (สเปนในดวงใจ) จากบริษัท TAQ Distinciones ที่ร่วมมือกับสมาคมกฎหมายเภสัชกรรม (Asociación Española de Derecho Farmacéutico – ASEDEF)
[su_spacer]
ด้านการวิจัยทางคลินิก สเปนก็มีบทบาทไม่แพ้ชาติใดในโลก สเปนเป็นผู้นำการทำวิจัยทางคลินิกเพื่อคิดค้นและทดสอบประสิทธิภาพของยาเพื่อใช้รักษาโควิด-19 อันดับ 1 ของยุโรปและอันดับ 4 ของโลกจำนวน 116 โครงการ รองจากสหรัฐฯ จีนและอิหร่านที่มีการวิจัยทางคลินิกจำนวน 260, 175 และ 152 ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2020) การวิจัยทางคลินิกในสเปน 101 จาก 116 โครงการได้รับอนุมัติจากองค์การยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์สเปน (Agencia Española Medicamentos y Productos Sanitarios – AEMPS) และดำเนินการในโรงพยาบาล 162 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคาดกันว่าจะมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการวิจัยทางคลินิกเหล่านี้รวม 28,000 คน
[su_spacer]
ในด้านการผลิตชุดทดสอบตรวจหาเชื้อโควิด-19 ล่าสุดบริษัทสเปนจากเมืองเซบีญาชื่อ Vitro (http://www.vitro.bio/inicio) เพิ่งเปิดตัวชุดทดสอบวินิจฉัยภายนอกร่างกาย (IVD) ตัวใหม่ชื่อ “Respiratory Flow Chip” ที่สามารถตรวจหาเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินหายใจ 22 สายพันธุ์ได้ในคราวเดียวกัน โดยแบ่งเป็นไวรัส 18 สายพันธุ์ (รวมเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ด้วย) และแบคทีเรียอีก 3 สายพันธุ์ นับว่าเป็นบริษัทอุปกรณ์และเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ลำดับต้นๆ ของโลก ที่วางขายชุดตรวจหาเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินหายใจได้ครอบคลุมเชื้อโรคหลากหลายชนิด
[su_spacer]
ส่วนความคืบหน้าในการคิดค้นวัคซีนต้านโควิด-19 ในสเปนนั้น ข้อมูลจากกระทรวงวิทยาศาตร์และนวัตกรรมสเปนระบุว่าในสเปนมีการวิจัยคิดค้นวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 10 โครงการ โดยในส่วนของสภาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สเปน (Consejo Superior de Investigaciones Científicas: CSIC) นักวิจัยของสถาบันแห่งนี้ กำลังคิดค้นวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 3 โครงการด้วยกัน ดังนี้
[su_spacer]
– โครงการที่ 1 นำโดย Luis Enjuanes และ Isabel Sola คิดค้นวัคซีนโดยใช้ดีเอ็นเอสำหรับสร้างไวรัสสังเคราะห์เพื่อกระตุ้นการตอบรับของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องต้องกันว่าวิธีนี้ใช้เวลานานแต่มีโอกาสสำเร็จสูง
[su_spacer]
– โครงการที่ 2 นำโดย Mariano Esteban และ Juan García Arriaza ใช้สายพันธุ์อ่อนตระกูลไวรัสไข้ทรพิษเป็น viral vector และนำเข้าสู่ยีนไวรัส SARS-CoV-2 เพื่อดูการตอบรับของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย วิธีนี้เคยใช้แล้วในโครงการรับมือกับไวรัสอีโบลา ไวรัสซิกาและไวรัสชิคุนกุนยา
[su_spacer]
– โครงการที่ 3 นำโดย Vicente Larraga ใช้ยีนแอนติเจน (Antigen) ของไวรัส SARS-CoV-2 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยวางยีนบนพลาสมิด (plasmid) และนำไปใส่ในร่างกายมนุษย์ ข้อได้เปรียบของวิธีนี้คือได้เคยถูกทดลองใช้กับการคิดค้นวัคซีนโรคลิชมาเนียมาแล้วและมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก (วัคซีนโรคลิชมาเนียอยู่ในเฟส 4 และใกล้ที่จะวางขายในตลาด) ดังนั้น ผลผลิตจากโครงการนี้จึงน่าจะเข้าสู่กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมได้เร็วกว่าโครงการอื่น
[su_spacer]
คาดกันว่าในเดือนกันยายนนี้จะทดลองใช้วัคซีนจากโครงการที่ 2 และ 3 กับหนูทดลองที่มีคุณสมบัติทางพันธุกรรมและยีนส์คล้ายคลึงมนุษย์ (humanized mouse) และในเดือนธันวาคมจะทดลองใช้กับมนุษย์ วัคซีนจาก 3 โครงการข้างต้น ตัวใดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดหลังจากทดลองกับมนุษย์น่าจะพร้อมผลิตและจำหน่ายภายในอีก 1 ปีข้างหน้า
[su_spacer]
นอกจากจะมีโครงการวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นของตนเองแล้ว ความพร้อมของอุตสาหกรรมยาและวัคซีนในสเปน ยังทำให้สเปนได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ผลิตวัคซีนของ Moderna บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากสหรัฐฯ และทำให้อาจมีโอกาสได้ใช้วัคซีนตัวนี้ก่อนประเทศอื่นในยุโรป โดยบริษัท Rovi Pharma Industrial Services สัญชาติสเปนจากแคว้นมาดริด (https://www.rovi.es/) จะเป็นผู้ผลิตวัคซีน mRNA-1273 นอกสหรัฐฯ โดยรับวัคซีนจาก Moderna แล้วจากนั้นค่อยนำมาบรรจุในภาชนะที่เป็นขวดแบบ multidose ปลอดเชื้อด้วยอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ติดฉลากและใส่บรรจุภัณฑ์ กระจายไปจำหน่ายในประเทศอื่น ๆ ในยุโรป โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตวัคซีนได้ในไตรมาสแรกปี ค.ศ. 2021 ด้วยกำลังการผลิตหลายร้อยล้านโดสต่อปี สเปนมีโรงงานเชี่ยวชาญและมีศักยภาพสูงด้านการบรรจุวัคซีนในภาชนะที่เป็นขวด (vial) และกระบอกฉีดยาที่บรรจุยาพร้อมฉีด ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการผลิตวัคซีน ข้อตกลงระหว่างบริษัท Moderna และบริษัท Rovi Pharma Industrial Services นับว่าเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาที่สำคัญในสเปนและเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ได้ในระดับโลกเพื่อให้ประชากรเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม
[su_spacer]
ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ http://www.thaiembassy.org/bic.madrid/
[su_spacer]
ที่มาของภาพ:
https://www.farmaindustria.es/web/wp-content/uploads/sites/2/2020/07/ensayos.jpg
[su_spacer]