ปัจจุบัน รัฐบาลของนานาประเทศต่างให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจประเภทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises – SMEs) และธุรกิจเกิดใหม่ (Startups) มากขึ้น เนื่องด้วยธุรกิจทั้งสองประเภทนี้มีสัดส่วนจำนวนธุรกิจสูงและสามารถสร้างแหล่งรายได้ที่กระจายเข้าถึงประชาชนรายย่อยได้อย่างแท้จริง ประกอบกับธุรกิจประเภทนี้ใช้เงินลงทุนในการเริ่มทำธุรกิจค่อนข้างต่ำ และมีความคล่องตัวสูงในการปรับตัวทางธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์โลก จึงส่งผลให้ธุรกิจดังกล่าวได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลทั่วโลก และมีตัวเลขการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง[su_spacer size=”20″]
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของธุรกิจ SMEs และ Startups อย่างสูง จึงได้ประกาศจัดตั้งกระทรวง SMEs และ Startups (The Ministry of SMEs and Startups – MSS) ของตนเองขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อันถือเป็นการยกระดับจากหน่วยงานที่บริหารจัดการเรื่องธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Business Administration – SMBA) ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1996 มาเป็นกระทรวงฯ ในที่สุด และได้แต่งตั้งนายฮง จง-ฮัก (Hong Jong-haak) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจของสภาที่ประชุมประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง SMEs และ Startups อย่างเป็นทางการ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานด้านธุรกิจ SMEs และ Startups ของเกาหลีใต้อย่างเต็มรูปแบบ[su_spacer size=”20″]
กระทรวง SMEs และ Startups ของเกาหลีใต้ มีภารกิจสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ SMEs และ Startups การดูแลบ่มเพาะแนวคิดและนวัตกรรมให้เติบโตขึ้นมาเป็นธุรกิจ และการให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจรายย่อย (Micro Enterprises – MEs) ซึ่งแผนนโยบายรายปีที่สำคัญมีดังนี้[su_spacer size=”20″]
- การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการลงทุน เช่น การดูแลธุรกิจ Startups ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยให้เงินลงทุนรายย่อยและปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้
- การสร้างธุรกิจให้เติบโตตามลำดับขั้น เช่น การขยายช่องทางการซื้อขายในตลาด รวมทั้ง การส่งเสริมให้ขยายตัวไปสู่ธุรกิจระดับนานาชาติ
- การพัฒนาวิสาหกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ (Creative Economy) ไปสู่วิสาหกิจระดับกลาง[su_spacer size=”20″]
การจัดตั้งกระทรวง SMEs และ Startups สะท้อนถึงความสำคัญของธุรกิจ SMEs และ Startups ซึ่งส่งผลกระทบอย่างสูงต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของเกาหลีใต้ เนื่องด้วยวิสาหกิจของเกาหลีใต้ร้อยละ 99 เป็นธุรกิจ SMEs ที่สร้างตำแหน่งงานใหม่ได้ถึงร้อยละ 88 จากตำแหน่งงานทั้งหมดภายในประเทศ และหากพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมก็จะพบว่า ในบางอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้เป็นผู้ประกอบการแบบ SMEs ทั้งหมด เช่น อุตสาหกรรมการเกษตรและการประมง อุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่ง อุตสาหกรรมขนส่ง อุตสาหกรรมโรงแรมที่พักและร้านอาหาร และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับบริการสุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนและเป็นความสำคัญในลำดับต้นของกระทรวงฯ คือ การระดมเงินทุนและความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยพัฒนาให้ธุรกิจขนาดเล็กเติบโตได้อย่างมั่นคง ดังเห็นได้จากกฎหมายกรอบการทำงานเกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Framework act on small and medium enterprises) และกฎหมายเกี่ยวกับระเบียบพิเศษในเรื่องการส่งเสริมการร่วมทุน (Act on special measures for the promotion of venture businesses) ที่กล่าวถึงประเด็นความร่วมมือและการร่วมทุน ทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านการซื้อหุ้น และหุ้นกู้แปลงสภาพ ที่บริษัทหุ้นออกจำหน่าย[su_spacer size=”20″]
ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้โอกาสนี้ในการเติบโตร่วมไปกับธุรกิจ SMEs และ Startups ของเกาหลีใต้ได้ โดยผู้ประกอบการ SMEs ของไทยสามารถเข้าไปเติมเต็มธุรกิจของเกาหลีใต้ผ่านการเป็นผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ (Supplier) ที่ช่วยผลิตสินค้าบางชนิดในระบบการผลิตโดยรวม ยกตัวอย่างเช่น การส่งออกอาหารและผลไม้จากไทยไปตอบสนองความต้องการสินค้าในธุรกิจโรงแรมที่พักและร้านอาหารของเกาหลีใต้ได้ เนื่องจากประชาชนเกาหลีใต้กำลังนิยมรับประทานอาหารและผลไม้ไทย โดยถือว่าอาหารและผลไม้ไทย เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ เป็นสินค้าในระดับ Premium ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องรักษาคุณภาพของสินค้าและหาแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย จึงจะสามารถตอบโจทย์นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแนวคิดและนวัตกรรมแบบใหม่ของเกาหลีใต้ได้ และต้องติดตามแนวโน้มของธุรกิจ SMEs และ Startups อย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าร่วมชมงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ในเกาหลีใต้ ซึ่งสามารถตรวจสอบตารางการจัดงานแสดงสินค้าตามประเภทอุตสาหกรรมได้ที่ www.keoa.org เพื่อที่ผู้ประกอบการไทยจะได้รับทราบถึงความต้องการของธุรกิจ SMEs และ Startups ของเกาหลีใต้ได้อย่างใกล้ชิด[su_spacer size=”20″]
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล