เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2566 “Korea’s Next S-Curve” รายงานจาก McKinsey & Company คาดการณ์ว่า เกาหลีใต้มีศักยภาพที่จะเติบโตเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก และมี GDP ต่อหัว 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี พ.ศ. 2583 (ค.ศ. 2040)
S-Curve ประเภทแรกของเกาหลีใต้เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อุตสาหกรรมหนัก (heavy industries) และเคมี และ S-Curve ประเภทที่สองเกิดขึ้นในช่วงอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบัน เกาหลีใต้กําลังเข้าสู่ยุคการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ จึงจําเป็นต้องมุ่งเน้นการผลักดันอุตสาหกรรม high-tech เช่น ชีวภาพและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value-added economy)
อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ยังมีความท้าทายหลากหลายประการ เช่น ความไม่สมดุลของโครงสร้างประชากร อันเป็นผลจากภาวะอัตราการเกิดต่ํา และยังขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ดังนั้น เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ McKinsey แนะนําให้เกาหลีใต้ดําเนินภารกิจหลัก 8 ประการ ได้แก่
- (1) การปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรม
- (2) การปฏิรูปรูปแบบธุรกิจ
- (3) การเปลี่ยนไปใช้รูปแบบธุรกิจใหม่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง
- (4) การเปลี่ยนไปใช้รูปแบบธุรกิจใหม่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่อุตสาหกรรมดั้งเดิม
- (5) การเปลี่ยนผ่านไปสู่ AI
- (6) ตั้งรากฐานนวัตกรรมทางอุตสาหกรรม
- (7) ฝึกอบรมผู้มีความสามารถ
- (8) การก่อตั้งตลาดทุนวงจรที่มีคุณธรรม
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของเกาหลีใต้ซึ่งกําลังเผชิญกับความเสี่ยงที่สําคัญ เช่น อุปสงค์ที่ลดลง เกาหลีใต้จําเป็นต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ และแสวงหากลไกการเติบโตทาง เศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการบ่มเพาะอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งดั้งเดิมของเกาหลีใต้แต่ปรับใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสมัยใหม่ เช่น จากการผลิตรถยนต์ดั้งเดิมสู่ Future Mobility / การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเต็มรูปแบบ / ชีวเภสัชภัณฑ์ / เซมิคอนดักเตอร์ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี S&P Global บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลกคาดการณ์ว่า ในปี 2583 ขนาดเศรษฐกิจของเกาหลีใต้จะอยู่ในอันดับที่ 11 โดยมี GDP ต่อหัวที่ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ํากว่าระดับที่ทาง McKinsey & Company ได้คาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสําคัญ
ด้านพลังงาน กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานแห่งเกาหลีใต้ (Ministry of Trade, Industry and Energy: MOTIE) ได้จัดการประชุม Industry Supply Chain Review Meeting เพื่อเตรียมแผนรับมือกับความท้าทายในห่วงโซ่อุปทานกราไฟท์ หลังจากที่ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2566 จีนได้ประกาศมาตรการควบคุมการส่งออกกราไฟท์ซึ่งเป็นแร่ธาตุสําคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถ EV และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป โดยกําหนดให้ผู้ส่งออกต้องยื่นขอใบอนุญาตในการขนส่งกราไฟท์ 2 ประเภท โดยในห้วงการประชุม เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ทํางานร่วมกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาเสถียรภาพของอุปสงค์และอุปทานของกราไฟท์ ขณะเดียวกันก็จะจัดสรรเงินทุนสําหรับ การผลิตกราไฟท์เทียม (artificial graphite) และจัดหาวัสดุทดแทนจากประเทศผู้ผลิตกราไฟท์อื่น ๆ เช่น แทนซาเนีย และโมซัมบิก
*****************
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์