สถานการณ์เศรษฐกิจปี 2564
เศรษฐกิจเกาหลีใต้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องตลอดปี 2564 โดยมีภาคการส่งออกเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญซึ่งเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 อยู่ที่ร้อยละ 4 โดย IMF คาดการณ์ว่า GDP เกาหลีใต้ในปี 2564 อยู่ที่ระดับ 1.82 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลให้เกาหลีใต้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 10 ของโลกเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน เนื่องจากมีฐานการผลิตที่ครอบคลุมสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ น้ำมัน/ปิโตรเคมี และรถยนต์/ชิ้นส่วน โดยกระทรวงการค้าอุตสาหกรรมและพลังงานเกาหลีใต้ (MOTIE) เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ว่า การส่งออกของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.8 จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ปริมาณ 644.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์
.
แผนการผลักดันเศรษฐกิจในปี 2565
กระทรวงการคลังเกาหลีใต้คาดการณ์ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2565 จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดย GDP น่าจะเติบโตร้อยละ 3 เนื่องจากยอดการส่งออกที่ยังคงแข็งแกร่งและการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวของรัฐบาลที่บรรเทาการลดลงของการบริโภคภายในประเทศ ด้านอัตราเงินเฟ้อในปี 2565 พบว่า CPI ในปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ซึ่งสูงสุดตั้งแต่อัตราร้อยละ 4 เมื่อปี 2554 จึงคาดว่าธนาคารกลางแห่งเกาหลีใต้ (Bank of Korea) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในปี 2565 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อ Omicron หนี้ครัวเรือน และผลกระทบของโรคโควิด-19 ต่อห่วงโซ่อุปทานโลกน่าจะยังคงเป็นปัจจัยความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเกาหลีใต้
.
ในระยะยาว รัฐบาลเกาหลีใต้จะผลักดันนโยบายเศรษฐกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสถานะของเกาหลีใต้ให้เป็นผู้นำโลกในอุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของประเทศ เช่น (1) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น Carbon Neutrality 2050, Hydrogen Economy Roadmap, ยุทธศาสตร์ K-Battery, ยุทธศาสตร์ K-Semiconductor โดยน่าจะให้ความสำคัญลำดับต้นกับการเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม การเพิ่มจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฮโดรเจน รวมไปถึงสถานีชาร์จเพื่อรองรับการขยายอุตสาหกรรมดังกล่าวภายในประเทศ เพื่อต้องการขยายฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์โดยการสร้างสายพานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก (2) อุตสาหกรรมแบบไร้การสัมผัส (contactless) เช่น การให้บริการด้านการดูแลสุขภาพผ่านช่องทางดิจิทัล (telemedicine) การลงทุนในบริการไร้สัมผัสต่าง ๆ เช่น virtual reality (VR) หุ่นยนต์ โดรน และ Metaverse โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 รัฐบาลกรุงโซลได้ประกาศแผนพัฒนาให้กรุงโซลเป็นเมือง Metaverse แห่งแรกของโลกภายในปี 2573 และ (3) ยุทธศาสตร์การยกระดับให้เกาหลีใต้เป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนของโลก (global vaccine hub) ซึ่งจะเร่งการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้และการเร่งรัดกระบวนการอนุมัติการทดลองทางคลินิก และการเร่งผลิตและฝึกอบรมบุคลากรรวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญเพิ่มในอุตสาหกรรมยาชีวเภสัชภัณฑ์
.
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
ในปี 2564 ไทยกับเกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ของกันและกัน ปรับขึ้นมาจากอันดับ 11 ในปี 2563 โดยมีมูลค่าการค้า 460,190 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 35.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในส่วนของมูลค่าการลงทุนของเกาหลีใต้ในไทย ระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2564 อยู่ที่ 12,830 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป็นนักลงทุนอันดับ 7 ในไทย ปรับขึ้นมาจากอันดับ 10 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2564 เกาหลีใต้เป็นนักลงทุนอันดับ 1 ในไทย ซึ่งเข้ามาลงทุนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยยังมีโอกาสร่วมมือกับเกาหลีใต้อีกมาก ในมิติด้านการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงที่ตรงกับความต้องการของไทยและความเชี่ยวชาญของเกาหลีใต้ ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) / EV battery / เทคโนโลยีชีวภาพ (biotech) / เมืองอัจฉริยะ/ เซมิคอนดักเตอร์ และ smart electronics เพื่อการพัฒนาการสร้างทักษะแรงงานชั้นสูง และพัฒนาประเทศไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ต่อไปในอนาคต
.
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์