ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2567 รัฐบาลเกาหลีใต้ซึ่งในขณะนั้นมีนายชเว ซัง-มก ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง รวมถึงธนาคารกลางเกาหลีใต้ เพื่อวางแนวทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ โดยมีแนวคิดที่จะใช้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นกลไกหลักในการกำหนดนโยบายตอบสนองอย่างเป็นระบบ พร้อมกันนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจ (task force) จำนวน 3 หน่วยงาน เพื่อเฝ้าระวังและรับมือกับทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (2) การค้า และ (3) อุตสาหกรรม
ทั้งนี้ เกาหลีใต้เป็นหนึ่งใน 57 ประเทศที่ถูกระบุให้เป็นเป้าหมายในการเก็บภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ซึ่งจะจัดเก็บในอัตราร้อยละ 25 โดยมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเกาหลีใต้พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และเหล็ก ในปี 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้าจากเกาหลีใต้ไปยังสหรัฐฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 127.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกอันดับสองของเกาหลีใต้ สินค้าส่งออกหลักคือรถยนต์ ขณะที่ในปีเดียวกัน การลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ (FDI) คิดเป็นร้อยละ 2.3
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ได้ประกาศชะลอการเก็บภาษีตอบโต้ดังกล่าวเป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 90 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 รัฐบาลเกาหลีใต้จึงอยู่ระหว่างการเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอให้ยกเว้นหรือชะลอการจัดเก็บภาษีดังกล่าว รวมถึงลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น ในด้านนโยบายภายใน รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ โดยจัดตั้งโครงการ “Tariff Response Voucher” ซึ่งจัดสรรงบประมาณสนับสนุนมูลค่า 15 ล้านล้านวอน (ประมาณ 350,000 ล้านบาท) ให้แก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม เทคโนโลยีชีวภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และอุตสาหกรรมวัสดุหรืออุปกรณ์สำหรับการต่อเรือ มาตรการดังกล่าวจะดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 ถึง 31 มีนาคม 2569 โดยมีองค์การส่งเสริมการค้าการลงทุนเกาหลี (KOTRA) เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการ
นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังประกาศลดอัตราภาษีการซื้อรถยนต์ (Automobile Purchase Tax) จากเดิมร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 เป็นการชั่วคราว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ โดยภาษีดังกล่าวครอบคลุมทั้งผู้ซื้อรถยนต์และผู้ครอบครองเครื่องจักรก่อสร้าง แม้ว่าสหรัฐฯ ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะเก็บภาษีตอบโต้ต่อสินค้าในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้ แต่รัฐบาลเกาหลีก็ได้เตรียมมาตรการรับมือไว้ล่วงหน้า โดยแผนสนับสนุนประกอบด้วย (1) โครงการ Tariff Response Voucher สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (2) เงินอุดหนุนเพื่อลดต้นทุนในการนำเข้าวัสดุและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง (3) มาตรการส่งเสริมการใช้เซมิคอนดักเตอร์ผลิตในประเทศและส่งเสริมการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ภายในประเทศ และ (4) โครงการให้คำปรึกษาและสนับสนุนการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในระบบ AI สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพื่อเสริมมาตรการดังกล่าว ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือร้อยละ 2.75 โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินวอนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลพวงจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาและรอดำเนินการ
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล