เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2567 ขยายตัวอย่างช้าๆ โดย GDP ของเกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 2 ต่ำกว่าที่ธนาคารกลางของเกาหลีใต้คาดการณ์ไว้ร้อยละ 0.4 จากปัจจัย อาทิ (1) การส่งออก/นำเข้าขยายตัวช้าลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 (2) การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมและการผลิตลดลงแม้ว่าการจ้างงานในภาคบริการ โดยเฉพาะในสาขาสุขภาพ สารสนเทศและการสื่อสาร และการจ้างงานภาครัฐจะเพิ่มสูงขึ้น (3) การขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ และ (4) การลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างและภาคการผลิตที่หดตัว ในขณะที่การลงทุนการผลิตชิ้นส่วนในภาคการคมนาคมเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังเพิ่มในระดับที่ไม่สูงมากนัก
ในส่วนของเศรษฐกิจเกาหลี ในปี 2568 ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและมีแนวโน้มจะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางเกาหลีใต้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.6-1.7 โดยปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อสูง อุปสงค์ภายในประเทศที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง นโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่เน้นการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกาหลีใต้ในฐานะประเทศที่พึ่งพาการค้าการส่งออก โดยมีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของเกาหลีใต้ การแข่งขันทางการค้ากับจีนที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขับเคลื่อนหลักของเกาหลีใต้ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอร์รี่ และความผันผวนของราคานำเข้าวัตถุดิบ/แร่ธาตุ ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
เกาหลีใต้มีนโยบาย/มาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเกาหลีใต้ ในปี 2568 ดังนี้
- ส่งเสริมให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี โดยสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาที่อยู่อาศัย ส่งเสริมธุรกิจ SMEs สนับสนุนงบประมาณแก่โครงการเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย การดูแลกลุ่มเปราะบาง การให้สิทธิประโยชน์ในการจ้างงานเยาวชน และการเพิ่มมาตรการอุดหนุนผู้ใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจท้องถิ่นและภาคก่อสร้าง
- เสริมสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นทางการเงิน โดยบริหารจัดการตลาดซื้อขาย แลกเปลี่ยนเงินตราให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาตลาดทุนด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้าภาษีและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
- ดำเนินการเชิงรุกเพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมทางการค้าระหว่างประเทศที่ผันผวน โดยดำเนินนโยบายทางการค้าที่มีความยืดหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายของประเทศคู่ค้า โดยใช้ประโยชน์จากกลไกการเจรจาหารือระหว่างประเทศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
- เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ตลอดจนวางกลยุทธ์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และแบตเตอร์รี่เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอก ดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนอุปทานในอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิมที่มีมากขึ้น อาทิ การต่อเรือ เหล็กและปิโตรเคมี และการพัฒนากลยุทธ์สำหรับขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง 3 สาขา ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์สำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง และเทคโนโลยีควอนตัม โดยมีเป้าหมายให้เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในสามผู้นำและผู้ส่งออกของโลก
ในส่วนของความสัมพันธ์ไทยและเกาหลีใต้ ด้านการค้าในปี 2567 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับที่ 13 ของไทย โดยมีมูลค่าการค้าทวิภาคี 15,280.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.64 จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออก 5,937.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.22 และนำเข้า 9,342.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.75 เท่ากับไทยขาดดุลการค้า 3,404.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าไทยที่ส่งออกไปเกาหลีใต้มากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และน้ำตาลทราย ด้านการลงทุน ในปี 2567 เกาหลีใต้เป็นผู้ลงทุนอันดับที่ 11 ของไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้อนุมัติคำขอรับสิทธิประโยชน์จากบริษัทเกาหลีใต้ จำนวน 37 โครงการ รวมมูลค่า 7,325 ล้านบาท (215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเป็นการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็กกล้าและวัตถุดิบ เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี เครื่องจักรและยานพาหนะ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมการแพทย์ และการบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งการเจรจา Thailand-Korea Economic Partnership Agreement (EPA) ได้มีการเจรจาทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งมุ่งหวังให้เจรจาแล้วเสร็จในสิ้นปี 2568 และลงนามในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่เกาหลีใต้ ในเดือนตุลาคม 2568 และด้านการท่องเที่ยว ในปี 2567 นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางไปไทย 1,868,945 คน โดยเป็นอันดับที่ 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเกาหลีใต้ 323,856 คน โดยเป็นอันดับที่ 10 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวเกาหลีใต้ ลดลงร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับปี 2566
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล
![](https://globthailand.com/wp-content/uploads/2025/02/infographics-2_11zon-819x1024.webp)