ภูมิหลังอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้
ในทศวรรษที่ผ่านมาเซมิคอนดักเตอร์เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของเกาหลีใต้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครองสัดส่วนราวร้อยละ 20 ของการส่งออกทั้งหมด โดยในปี 2564 เกาหลีใต้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์มูลค่ามากถึง 128 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จากปีก่อนหน้า และในเดือนพฤษภาคม 2565 เดือนเดียว เกาหลีใต้ได้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์แล้วมากถึง 11.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบกับทุกปี
โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 นายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น ได้ประกาศยุทธศาสตร์ K-Semiconductor Strategy ด้วยเป้าหมายการพัฒนาให้เกาหลีใต้เป็น “Global Semiconductor Powerhouse” ภายในปี 2573 ผ่านแผนการดำเนินงาน 3 ประการ ได้แก่
(1) การสร้างสายพานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เมืองยงอิน จังหวัดคยองกี ด้วยการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลกับบริษัท Samsung Electronics และบริษัท SK Hynix
(2) ปรับลดอัตราภาษีร้อยละ 50 สำหรับ R&D ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้าน R&D ลดลงถึงร้อยละ 30-40 สำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ และร้อยละ 40-50 สำหรับ SMEs
(3) จัดตั้งกองทุนพิเศษมูลค่า 1 ล้านล้านวอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งครอบคลุมค่าน้ำ (water supply) เป็นระยะเวลา 10 ปีให้กับนิคมอุตสาหกรรม หรือโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ในพื้นที่ต่าง ๆ
ด้วยจุดแข็งของเกาหลีใต้ในอุตสาหกรรมดังกล่าว ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น จึงเป็นที่คาดเดาได้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ชุดใหม่ยังคงสานต่อแผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างแน่นอน โดยรัฐบาลชุดใหม่นี้ได้ออกมาประกาศถึงแผนงานเรื่องอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างชัดเจน ซึ่งชี้แจ้งว่าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะผนึกกำลังร่วมกับภาคเอกชน เช่น บริษัท Samsung Electronics และบริษัท SK Hynix ลงทุนมูลค่ากว่า 340 ล้านล้านวอน ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้เพื่อต่อยอดโครงการต่าง ๆ ได้แก่
(1) จัดตั้งกองทุนมูลค่า 3,000 ล้านวอน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของบริษัทรายเล็กในอุตสาหกรรม
(2) จัดตั้ง academic organization เพื่อฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์กว่า 150,000 คน ภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
(3) ตั้งเป้าหมายลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและส่วนประกอบสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์เป็นร้อยละ 50 จากปัจจุบันที่ยังต้องนำเข้าถึงร้อยละ 70
(4) สานต่อโครงการของรัฐบาลชุดก่อนในการสร้างโรงงานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เมืองยงอิน จังหวัดคยองกี
(5) ขยายเวลาการทำงานในโรงงานและภาคการผลิต จากปัจจุบันมากสุด 53 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นมากสุด 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กันยายน 2565
(6) ออกกฎหมายที่อนุญาตให้อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่ได้รับ certifications จากองค์การระหว่างประเทศ ได้รับยกเว้นจากกระบวนการตรวจสอบและอนุมัติเพื่อใช้ภายในประเทศ
สถานการณ์อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลกและนัยต่อเกาหลีใต้
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลกกำลังประสบความท้าทายจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ (1) การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งได้กระตุ้นอุปสงค์ของเซมิคอนดักเตอร์แตในขณะเดียวกันก็ได้ก่อให้เกิดการชะงักงันในห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้โลกประสบปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (2) สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนหันมาพึ่งพาตัวเองและผลักดันการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งการให้เงินอุดหนุน กำหนดนโยบายและการให้สิทธิพิเศษ เพื่อดึงดูดบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำทั่วโลกให้ลงทุนในจีน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่ากังวลสำหรับสหรัฐฯ และ (3) สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศผลิตและส่งออกวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์
จึงเห็นได้ว่า เซมิคอนดักเตอร์ได้ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่อยู่ในความสนใจของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ดังจะได้เห็นได้จากตัวอย่างที่สำคัญ เช่น ในเดือนพฤษภาคม 2565 ประธานาธิบดีไบเดนได้เดินทางเยือนเกาหลีใต้เป็นประเทศแรกในเอเชียหลังจากเข้ารับตำแหน่ง และได้เยี่ยมชมโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัท Samsung Electronics เป็นที่แรกในเกาหลีใต้ รวมทั้งได้กล่าวว่า การรักษาห่วงโซ่อุปทานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เป็นเรื่องสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี เกาหลีใต้ยังคงต้องวางยุทธศาสตร์ในด้านเซมิคอนดักเตอร์อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของการผลิตและส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังประเทศคู่ค้า เนื่องจากประเทศจีนยังคงครองสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของตลาดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดของเกาหลีใต้และบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของเกาหลีใต้ยังมีการลงทุนอยู่ในจีนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรติดตามพัฒนาการในประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด อีกทั้งสามารถแสวงหาความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำในเกาหลีใต้ เพื่อผลักดันความร่วมมือในด้านห่วงโซ่อุปทานและเทคโนโลยีที่อาจมีร่วมกันต่อไปได้ในอนาคต