รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้ดำเนินนโยบายฟื้นฟูและปฏิรูปเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบัน มาตรการที่สำคัญ ได้แก่
.
1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
รัฐบาลแอฟริกาใต้มีแผนเร่งซ่อมแซมและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเน้นการสร้าง smart cities ที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการค้าการลงทุน ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานในประเทศไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ยังมีแผนการปรับยุทธศาสตร์ให้เมือง Durban เป็นท่าเรือของแอฟริกาตอนใต้ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมไปสู่ระบบรางมากขึ้น
.
2.การส่งเสริมอุตสาหกรรมและธุรกิจท้องถิ่นและการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของแอฟริกาใต้
รัฐบาลแอฟริกาใต้ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าภายในประเทศ (Made in South Africa) และการใช้วัตถุดิบในประเทศสำหรับการผลิตอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มการส่งออกสินค้าท้องถิ่นและลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าต่างประเทศ โดยอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มขีดความสามารถ ได้แก่ อุตสาหกรรมสัตว์ปีก น้ำตาล และรถยนต์ ขณะเดียวกัน ก็ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เป็นจำนวนมากด้วย
.
3.การเยียวยาธุรกิจและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ได้ออกนโยบายการเยียวยาทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 โดยกองทุนประกันการว่างงาน (Unemployment Insurance Fund – UIF) ได้ขยายโครงการเยียวยาภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ระดับที่ 4 อาทิ ธุรกิจการท่องเที่ยว บริการ ร้านอาหาร ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 โครงการ COVID-19 TERS scheme ได้ใช้งบประมาณกว่า 60 ล้านแรนด์ เพื่อคงตำแหน่งงานของชาวแอฟริกาใต้กว่า 5.5 ล้านคน อีกทั้ง คณะรัฐมนตรีแอฟริกาใต้ได้เห็นชอบให้ธุรกิจที่มีใบอนุญาตหมดอายุในช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2564 สามารถต่ออายุได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
.
4.การสร้างงานและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงาน
รัฐบาลแอฟริกาใต้เพิ่มการจ้างงานในภาครัฐและการสนับสนุนธุรกิจ start-up กว่า 15,000 ราย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนผ่านการสร้างเครือข่ายที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 1.2 ล้านคน รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติในกลุ่มสาขาอาชีพที่จำเป็น (critical skills) สามารถเข้ามาทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย
.
5.การขยายขีดความสามารถในการผลิตพลังงานและการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security)
เนื่องจากปัจจุบัน รัฐบาลแอฟริกาใต้ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ระบบไฟฟ้าของแอฟริกาใต้มีความไม่ต่อเนื่อง มีการตัดไฟโดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้า (Load Shedding) อยู่เป็นระยะ โดยบริษัท Eskom ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจที่ผลิตไฟฟ้าให้กับรัฐบาลเพื่อประหยัดพลังงานและลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้า รัฐบาล แอฟริกาใต้จึงได้มุ่งปฏิรูปองค์กร Eskom อีกทั้งแอฟริกาใต้ยังประสงค์จะแสวงหาแหล่งพลังงานสะอาดอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน
.
6.การสนับสนุนการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยว
เนื่องจากในปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาแอฟริกาใต้ลดน้อยลงจากปี 2562 ถึงร้อยละ 71 หรือประมาณ 5 ล้านคน เช่นเดียวกับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมด้านการท่องเที่ยวซึ่งลดลงจากจากเดิมร้อยละ 72.6 ทำให้รัฐบาลแอฟริกาใต้เร่งดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ การใช้ระบบ E -Visa เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยในขั้นนี้ได้เริ่มใช้กับคนชาติไนจีเรียและอินเดียแล้ว และรัฐบาลแอฟริกาใต้มีแผนจะขยายขอบเขต E-Visa เพิ่มอีก 10 ประเทศ เช่น จีน สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ เป็นต้น
.
7.การเข้าร่วมเขตการค้าเสรีภูมิภาคแอฟริกา (African Continental Free Trade Agreements – AfCFTA)
แอฟริกาใต้ได้เข้าร่วม AfCFTA ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรประมาณ 1.3 พันล้านคนจาก 54 ประเทศ ซึ่งมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมกว่า 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นเขตการค้าเสรีที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นตลาดการค้าการลงทุนขนาดใหญ่ การกำจัดอุปสรรคทางด้านภาษีในการเข้าถึงตลาดในพื้นที่ต่าง ๆ ในแอฟริกาและการลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายบุคลากรภายในภูมิภาคจะช่วยเพิ่มพูนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมและทำให้แรงงานจากประเทศต่าง ๆ สามารถโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อหางานทำอย่างเสรีตามความเชี่ยวชาญ ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนปัจจัยการผลิตของภาคเอกชนในแอฟริกาใต้
.
ภาพรวมนโยบายด้านเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้
นโยบายด้านเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีลักษณะของการกีดกันทางการค้าและการลงทุน(protectionism) มากขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าปัจจุบัน เศรษฐกิจของแอฟริกาใต้จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 แต่พื้นฐานโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ยังคงมีความแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคแอฟริกา โดยเฉพาะปัจจัยทางด้านการเมืองที่ยังคงมีเสถียรภาพมั่นคงและระบบการศึกษาที่มีมาตรฐานสูง ทำให้แอฟริกาใต้ยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากชาวต่างชาติในระดับหนึ่ง
.
จึงอาจกล่าวได้ว่าแอฟริกาใต้ยังคงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพและเร่งดึงดูดเยาวชนและบริษัทต่างชาติ ในอุตสาหกรรมหรือสาขาอาชีพที่มีความต้องการ รวมไปถึงการพยายามผลักดันการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ นอกภูมิภาคมากขึ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนในประเทศแอฟริกาใต้ควรที่จะติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับตัวและพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจตนเองให้พร้อมอยู่เสมอ
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย