ในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 เกาหลีใต้มีความเคลื่อนไหวสำคัญในด้านต่าง ๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ยกเลิกข้อจํากัดการพัฒนาเขตพื้นที่สีเขียวเพื่อจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัย
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 รัฐบาลเกาหลีใต้เปิดเผยว่า จะยกเลิกข้อจํากัดการพัฒนาเขตพื้นที่สีเขียว (Greenbelt zones) ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับการคุ้มครองไม่ให้มีการพัฒนาที่ดิน เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในกรุงโซลและพื้นที่โดยรอบ เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่นายอี มยอง-บัก อดีตประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ได้ยกเลิกเขตพื้นที่สีเขียวเพื่อจัดสรรที่อยู่อาศัยในปี 2555 ทั้งนี้ รัฐบาลจะยกเลิกข้อจํากัดการพัฒนาเขตพื้นที่สีเขียวในกรุงโซลและพื้นที่โดยรอบ เพื่อจัดสรรที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนกว่า 80,000 หลัง โดยจะกำหนดที่ดินสำหรับการสร้างที่อยู่อาศัย 50,000 หลัง แรกในเดือนพฤศจิกายน 2567 และกำหนดเพิ่มเติมอีก 30,000 หลัง ภายในปี 2568 โดยรัฐบาลคาดว่าจะจัดสรรที่อยู่อาศัยได้มากกว่า 427,000 หลัง ภายในปี 2567 อนึ่ง ในปัจจุบันพื้นที่ทั้งหมดของกรุงโซลร้อยละ 25 ถูกกําหนดให้เป็นเขตพื้นที่สีเขียว
- ยกระดับการติดตามราคาสินค้าเกษตร รวมถึงเพิ่มปริมาณสํารองของทรัพยากรสำคัญ
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 นายคิม บอม-ซ็อก รองปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังเปิดเผยว่า รัฐบาลจะติดตามราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญอย่างเข้มงวด รวมถึงเพิ่มปริมาณสํารองของน้ำมัน ก๊าซ และทรัพยากรสำคัญอื่น ๆ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งพุ่งสูงในเดือนกรกฎาคม 2567 จากราคาผักผลไม้ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลจะเพิ่มพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลีซึ่งเป็นผักที่เป็นที่นิยมของเกาหลีใต้ แต่ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักและคลื่นความร้อน ทำให้ราคาสูงขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้มีผลผลิตเพิ่ม 9,000 ตัน รวมถึงจะออกมาตรการเพื่อควบคุมระบบบริหารจัดการคลังน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ที่จําเป็นต่อความมั่นคงของชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- เตรียมเพิ่มอาชีพช่างไฟฟ้า (Power Line Electrician) ในรายชื่ออาชีพที่สามารถขอรับวีซ่าแรงงานที่มีทักษะฝีมือ
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2567 กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ประกาศแผนเพิ่มอาชีพช่างไฟฟ้า (Power Line Electrician) เข้าในรายชื่ออาชีพที่สามารถขอรับวีซ่าแรงงานที่มีทักษะฝีมือ (E-7) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า โดยก่อนหน้านี้ มีอาชีพที่สามารถขอรับวีซ่า E-7 จำนวน 89 สาขา โดยรัฐบาลจะเริ่มออกวีซ่า E-7 สำหรับการจ้างงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างสายไฟฟ้าจำนวน 300 คนต่อปี และจะดำเนินการโครงการนําร่องเป็นเวลา 2 ปี โดยช่างไฟฟ้าเหล่านี้จะมีหน้าที่รับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้ง การดําเนินงาน และการบำรุงรักษาสายไฟฟ้า


บทบาทของไทยในการสนับสนุนอุตสาหกรรม K-pop
นอกจากความเคลื่อนไหวของเกาหลีใต้ในด้านต่าง ๆ ข้างต้น ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการขยายความนิยมกระแส K-pop สู่ระดับโลก ผ่านกลุ่มแฟนคลับชาวไทยที่สามารถใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น วิดีโอ TikTok ของอินฟลูเอนเซอร์ชาวไทยชื่อ Alice Ratchadawan ที่ใช้เพลง “Bad” ของวง Wave to Earth ในวิดีโอการขอแต่งงาน ทำให้เพลงนี้โด่งดังไปทั่วโลก
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีอิทธิพลอย่างมากในด้านการผลิตและบริโภคเนื้อหา K-pop เนื่องจากมีศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงในวงการ K-pop เช่น เตนล์ จากวง NCT และลิซ่า จากวง BLACKPINK ซึ่งดึงดูดแฟนคลับทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และการที่โครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยได้รับการพัฒนาอย่างมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้ไทยมีความได้เปรียบในการผลิตคอนเทนต์ได้อย่างรวดเร็วและสร้างคลิปวีดีโอสั้นเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
