ธนาคารโลกได้ประเมินเศรษฐกิจโซมาเลียว่าจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากผลกระทบของโรคโควิด-19 ปัญหาอุทกภัย รวมทั้งการระบาดของตั๊กแตนที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร รวมถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Real GDP Growth) ของโซมาเลียปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ลดลงจากปี 2563 ที่ร้อยละ 2.3
.
ด้านการคลัง โซมาเลียกําลังเผชิญกับความท้าทายในการบริหารงบประมาณ ประจำปี 2564 เนื่องจากข้อจํากัดรายได้ภาครัฐที่จัดเก็บรายได้ได้น้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2563 โดยเฉพาะรายได้ที่ไม่ใช่ภาษี (non-tax revenue) ส่งผลให้เกิดช่องว่างรายได้กว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน กอปรกับความไม่แน่นอนทางการเมือง และความช่วยเหลือด้านงบประมาณจากหุ้นส่วนต่างประเทศที่ถูกระงับ
.
อย่างไรก็ดี โซมาเลียมีความคืบหน้าด้านการปฏิรูประบบราชการ โดยเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 โซมาเลียเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UN Convention against Corruption) โดยรัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์การต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2020 – 2023 นอกจากนี้ รัฐบาลโซมาเลียร่วมกับ UN จัดทำแผนงาน 10 ปี เพื่อส่งเสริมการต่อต้านการทุจริต ปรับปรุงโครงสร้างรัฐบาล สนับสนุนกระบวนการทางกฎหมายในการต่อต้านการทุจริต และเสริมสร้างขีดสมรรถนะให้ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน
.
ประมาณการเศรษฐกิจโซมาเลีย ปี 2565 ธนาคารโลกคาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโซมาเลียจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ในปี 2565 และร้อยละ 3.2 ในปี 2566 โดยเศรษฐกิจโซมาเลียจะอยู่ในช่วงการฟื้นตัวโดยได้รับแรงสนับสนุนจากอัตราเครดิตที่สูงขึ้นของภาคเอกชนและการไหลเข้าของรายได้จากต่างประเทศ ด้านอัตราความยากจนในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 70 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 ทั้งนี้ รัฐบาลยังจำเป็นต้องลดความยากจนโดยการเพิ่มกําลังการผลิตภายในประเทศ การสร้างงาน และขยายโครงการที่สนับสนุนผู้มีรายได้น้อย (pro-poor programme) รวมทั้งปฏิรูปสถาบันต่าง ๆ และส่งเสริมความสัมพันธ์กับรัฐในภูมิภาคเพื่อสร้างโอกาสการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
.
ภาพรวมการค้าระหว่างไทย – โซมาเลียในปี 2564 ไทยและโซมาเลียมีมูลค่าการค้ารวม 14.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ร้อยละ 7.59 โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังโซมาเลีย 13.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นําเข้า 1.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ไทยได้ดุลการค้าโซมาเลีย 12.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปโซมาเลีย ได้แก่ (1) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 5.43 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ (2) ผลิตภัณฑ์พลาสติก 2.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3) ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ 0.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (4) ผลิตภัณฑ์ยาง 0.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 0.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินค้านําเข้า 5 อันดับแรกจากโซมาเลีย ได้แก่ (1) สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งแปรรูป (2) แผงวงจรไฟฟ้า (3) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช (4) เสื้อผ้าสําเร็จรูป (5) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
.
ปัจจุบัน ไทยและโซมาเลียอยู่ระหว่างหารือแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้น โดยประเด็นที่โซมาเลียให้ความสนใจ ได้แก่ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการส่งเสริมการค้า การลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมงที่โซมาเลียมีความโดดเด่นด้านทรัพยากรสัตว์น้ำ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างความร่วมมือในประเด็นที่โซมาเลียให้ความสนใจดังกล่าว โดยไทยสามารถร่วมลงทุนในโซมาเลียด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ไทยมีศักยภาพ และสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมประมงที่โซมาเลียมีศักยภาพ เพื่อนำความรู้มาพัฒนาต่อยอดการทำประมงของไทยต่อไป ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น โดยไทยและโซมาเลียจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนร่วมกันต่อไปในอนาคต
.
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต / คณะผู้แทนถาวร ณ กรุงไนโรบี
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์