เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา สถาบันการต่างประเทศเทวะวงษ์วโรปการร่วมกับ Diplomatic Acedemy ประเทศสโลวีเนีย ได้จัดการบรรยายรูปแบบออนไลน์ในหัวข้อ ‘Artificial Intelligence (AI) Governance and Foreign Policy’ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยี AI ของไทย – สโลวีเนีย
การบรรยายได้กล่าวถึงพัฒนาการของเทคโนโลยี AI ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมและส่งผลเสียให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ หลายปีที่ผ่านมา องค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น UN UNESCO EU และ The Council of the EU จึงได้ออกมาตรการควบคุมการใช้งานเทคโนโลยี AI โดยมุ่งเน้นให้มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ และใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่กระทบหลักนิติธรรมและสิทธิของผู้อื่น
สำหรับประเทศสโลวีเนีย ได้จัดตั้ง IRCAI ศูนย์วิจัยระดับนานาชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก UNESCO และรัฐบาลแห่งสโลวีเนีย ทำหน้าที่วิจัย ศึกษาผลกระทบ รวบรวมนโยบายที่เกี่ยวข้อง และให้คำปรึกษาแก่ผู้กำหนดนโยบาย (policy and decision maker) เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดทำ guidelines สำหรับการใช้เทคโนโลยี AI นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจและช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ในการใช้เทคโนโลยี AI อีกด้วย ทั้งนี้ เมื่อปี 2023 ศูนย์วิจัย IRCAI ยังได้ร่วมมือกับ บ. Amazon Web Services (AWS) จัดตั้งโครงการ ‘Compute for Climate Fellowship’ เพื่อสนับสนุนการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำแนวทางการใช้งานเทคโนโลยี AI บ้างแล้ว เช่น ETDA (Electronic Transactions Development Agency) ซึ่งปีที่ผ่านมาได้จัดทําแนวทางและเครื่องมือช่วยกําหนดมาตรฐานและแนวทางด้านจริยธรรม ได้แก่ At Governance Recommendation Guideline” ประกาศเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 และ เครื่องมือสําหรับประเมินความพร้อมด้าน AI ขององค์กร เพื่อให้สามารถเลือกใช้ use cases ที่เหมาะสมกับบริบทของตนเองได้
นอกจากนี้ การบรรยายข้างต้น ยังได้กล่าวถึงแนวทางการปรับเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานภาครัฐ โดยได้ยกตัวอย่างการทำงานในภาคส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ ที่สามารถนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการดำเนินงานให้มีความทันสมัยขึ้น หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น การทูตสมัยใหม่ (Modern Diplomacy) โดยมีตัวอย่างการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ที่น่าสนใจ ดังนี้
- วิเคราะห์ข้อมูล เช่น สถิติ พฤติกรรมของกลุ่มคน รวมถึงความคิดเห็นบนช่องทาง Social Media เพื่อช่วยวางแผนกลยุทธ์และการดำเนินงานให้สอดคล้องกับประเด็นที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆ
- คาดคะเนเทรนด์ ช่วยคาดเดาแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ประเด็นด้านความมั่นคง และกระแสสังคม
- ช่วยแปลภาษา สำหรับงานประเภทเอกสาร การรับ-ส่งอีเมลล์ และการถาม-ตอบทั่วไป (chatbot)
- เสริมสร้างความปลอดภัย ใช้ป้องกันการโจมตีหรือการคุกคามจากผู้ไม่หวังดีบนโลกอินเทอร์เน็ต ช่วยให้การทำงานด้านการทูตมีความปลอดภัยมากขึ้น
- เครื่องมือช่วยทำงานทั่วไป ช่วยลดภาระงานประเภท routine works ทำให้ประหยัดเวลา และสามารถ focus งานอื่น ๆ ที่สำคัญได้
สำหรับประเทศไทย การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในหน่วยงานรัฐ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ได้จัดตั้งศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐ (AI Government Center: AIGC) พร้อมจัดทำกรอบการทำงานด้าน AI ของภาครัฐไทย (AI Government Framework) และธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance Quick Guide) เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่สนใจนำไปศึกษาก่อนเริ่มต้นปรับใช้จริงในอนาคต
อย่างไรก็ดี การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในหน่วยงานของภาครัฐ ควรพิจารณาขอบเขตของการใช้งานอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากข้อมูลของบางประเภทมีระดับชั้นความลับที่แตกต่างกัน จึงอาจไม่สามารถนำเครื่องมือทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ทั้งหมด และก่อนการนำข้อมูลที่ได้มาใช้งานจริง ควรตรวจสอบแหล่งที่มาทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้อื่นได้
* * * * * * * *
ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
อ้างอิง :
https://www.unesco.org/en/artificial-intelligence/recommendation-ethics
https://digital-strategy.ec.europa.eu/en/policies/regulatory-framework-ai