เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2566 รายงานจากบริษัท PWC Singapore สมาคมฟินเทคแห่งสิงคโปร์ (Singapore Fintech Association : SFA) และคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งสิงคโปร์ (Singapore Economic Development Board : EDB) ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มที่ดีและเหมาะสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน เนื่องจากการขยายตัวของสังคมเมืองและประชากรวัยหนุ่มสาวที่มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ส่งผลให้สิงคโปร์ทำหน้าที่เป็น “สะพานเชื่อมที่ยอดเยี่ยม” สำหรับบริษัทต่างๆ ที่ต้องการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจด้วยโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีและทางการเงินที่ดี ซึ่งทำให้ได้เปรียบมากกว่าในการไปลงทุนในประเทศเกิดใหม่ (Emerging Countries)
ในปี 2565 รายงานของบริษัท PWC Singapore ธนาคาร UOB ระบุว่า การลงทุนฟินเทคในประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซีย รวมกันเป็น 3 ใน 4 ส่วนของประเทศในภูมิภาคอาเซียนรวมกันทั้งหมด และสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีจำนวนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในฟินเทคมากที่สุดอยู่ที่ 1,580 บริษัท จากประเทศในกลุ่มอาเซียนหกประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม (ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2565)
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีความท้าทายระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่อุปสรรคทางเศรษฐกิจมหภาคและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้การดำเนินงานหยุดชะงัก และนำไปสู่การปลดพนักงานจำนวนมากการลงทุนในอุตสาหกรรมฟินเทคทั่วโลกลดลงเหลือ 75,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 จาก 139,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าตลาดสูงถึง 194,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 และคาดว่า จะเติบโตในอัตราทบต้นที่ร้อยละ 16.8 ต่อปี ระหว่างปี 2566 ถึง 2571 ซึ่งจะสูงถึง 492,810 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การให้บริการชำระเงินมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมฟินเทค ภาคการชำระเงินดิจิทัลทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่าธุรกรรมรวม 9.47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 และคาดว่าจะมีจำนวนผู้ใช้สูงถึง 5,480 ล้านคน ภายในปี 2567 ในขณะเดียวกัน Neo banking หรือธนาคารที่ให้บริการเฉพาะธุรกรรมทางดิจิทัลอย่างเดียว คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นทั่วโลก 28.9% โดยคาดว่า ในปี 2566 มูลค่าเฉลี่ยในการทำธุรกรรมต่อผู้ใช้งานจะอยู่ที่ 18,000 เหรียญสิงคโปร์ นอกจากนี้ 114 ประเทศ ซึ่งคิดเป็น 95% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทั่วโลก ได้ใช้งานหรือกำลังพิจารณาที่จะใช้สกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นสกุลเงินกลางเพื่อใช้ในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 35 ประเทศในปี 2563 และในเดือนพฤศจิกายน 2565 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore : MAS) ได้เปิดตัวโครงการ Ubin+ เพื่อศึกษาข้อมูลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศข้ามพรมแดนโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currencies : CBDCs) ระหว่างประเทศฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์
จากรายงานของ PwC,SFA และ EDB ระบุว่า สามองค์ประกอบ ที่จะกำหนดรูปแบบอุตสาหกรรมฟินเทคโลก ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ความยั่งยืน (Sustainability) และความน่าเชื่อถือดิจิทัล (Digital Trust) สิงคโปร์มีนโยบายมากมายเพื่อสนับสนุนบริษัทในอุตสาหกรรมฟินเทค เช่น AI Singapore ซึ่งเป็นโครงการวิจัยและนวัตกรรมระดับชาติ ได้นำเสนอ AI International Grant Call เพื่อให้ทุนสนับสนุนการวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ผ่านพันธมิตรระหว่างสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ มูลนิธิ AI Verify ซึ่งเปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2566 โดยสำนักงานพัฒนาสื่อสารสารสนเทศ (Infocomm Media Development Authority) เป็นกรอบการทดสอบและกำกับควบคุม AI เป็นที่แรกในโลกที่อนุญาตให้สามารถทดลองใช้งาน AI อย่างเหมาะสม รายงานยังระบุว่า รัฐบาลสิงคโปร์กำลังทำงานอย่างหนักในด้านความยั่งยืน โดยในปี 2564 Enterprise Singapore ได้ประกาศจัดสรรงบประมาณ 242 ล้านเหรียญสิงคโปร์ สำหรับโครงการ Enterprise Sustainability Program เพื่อช่วยเหลือบริษัทในประเทศให้มีการพัฒนาความสามารถด้านความยั่งยืน เพื่อให้สามารถแข่งขันในระบบ Green Economy (ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาและใช้งานทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างยั่งยืนและมีการรักษาสิ่งแวดล้อม) ได้ดียิ่งขึ้น
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
แหล่งที่มา : StraitsTimes : www.straitstimes.com/business/fintech-funds-soar-to-57b-in-asean-s-pore-an-excellent-bridge-for-investing-firms-report