เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 นาย Chan Chun Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์กล่าวในงานสัมมนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Tourism Industry Conference – TIC) เรื่องการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจํานวน 68.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สําหรับกองทุนการพัฒนาการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Tourism Development Fund – TDF) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในสิงคโปร์ และช่วยเหลือ ภาคการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยกองทุน TDF จะสนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวต่อไปจนถึงช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565
.
กองทุน TDF ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว การเพิ่มประสิทธิภาพ ในการดูแลนักท่องเที่ยวในสิงคโปร์และอาชีพภาคบริการที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งแต่ปี 2559 – 2563 กองทุน TDF มีมูลค่ารวม 848.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมีการจัดสรรงบประมาณ 3 ครั้ง ได้แก่ 1) ปี 2559 จํานวน 700 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ 2) ปี 2563 จํานวน 90 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยจัดสรรจาก Resilience Package และล่าสุด 3) เมื่อเดือนเมษายน 2564 จํานวน 68.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งนี้ กองทุน TDF แบ่งออกเป็นกองทุนย่อย ได้แก่ 1) กองทุน Experience Step Up Fund (ESF) พัฒนาการท่องเที่ยวสิงคโปร์ โดยการปรับปรุงเนื้อหา และการปรับใช้เทคโนโลยี 2) กองทุน Kickstart Fund สนับสนุนการทดลองนวัตกรรมเพื่อยกระดับซอฟแวร์ของการท่องเที่ยวสิงคโปร์ และ 3) กองทุน The Training Industry Professionals in Tourism (TP-IT) พัฒนาศักยภาพของลูกจ้าง เป็นต้น
.
ในงานสัมมนาฯ การท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board – STB) ได้ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ Tourism Technology Transformation Cube (Tcube) หรือพื้นที่ด้านนวัตกรรมสําหรับ ธุรกิจการท่องเที่ยวภาคเอกชนในการทดสอบและปรับปรุงเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (เมื่อปี 2563 แพลตฟอร์มฯ ใช้ชื่อว่า ThreeHouse) แพลตฟอร์มนี้จะช่วยสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) พื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 2) พื้นที่ทดลองแนวคิดใหม่ผ่านการทดสอบการใช้งานจริง และการดําเนินการนําร่อง และ 3) การเตรียมพร้อมสร้างและปรับโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน Tcube จะเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัล ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูล และบริการให้คําปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการสร้างต้นแบบสําหรับธุรกิจการท่องเที่ยวที่ต้องการปรับใช้กลยุทธ์ด้านดิจิทัล
.
นอกจากนี้ STB ร่วมกับสหภาพแรงงานแห่งชาติสิงคโปร์ (National Trades Union Congress – NTUC) พัฒนาแผนแม่บทการพัฒนาขีดความสามารถภาคการท่องเที่ยว (Tourism Sector Capability Development Roadmap) สําหรับปี 2564 เพื่อเตรียมพร้อมแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีทักษะที่จําเป็น ในช่วงหลังโควิด-19 โดยแผนแม่บทฯ จะดําเนินการภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสิงคโปร์ กับภาคเอกชนชั้นนําในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (กลุ่มพันธมิตร Alliances for Action – AfAs) โดยมี 7 แนวคิดหลัก ได้แก่ การสร้างสภาพแวดล้อมด้านดิจิทัล ความยั่งยืน เทคโนโลยีการศึกษา การค้าอัจฉริยะ หุ่นยนต์ การปฏิรูปห่วงโซ่อุปทานสู่ดิจิทัล และการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ในสิงคโปร์ และ คณะทํางานเฉพาะกิจ Emerging Stronger Taskforce สิงคโปร์
.
อีกวาระสําคัญของงานประชุม TIC คือสมาคมผู้จัดงานประชุมและนิทรรศการของสิงคโปร์ (Singapore Association of Convention and Exhibition Organisers and Suppliers – SACEOS) หน่วยงานกํากับดูแลอุตสาหกรรมการจัดประชุม สัมมนา งานแสดงสินค้า และนิทรรศการขนาดใหญ่ (MICE) ได้เริ่มต้นโครงการประกาศนียบัตรรูปแบบใหม่ “The SG SafeEvents Certification” เพื่อรับรองการจัดงานกิจกรรมขนาดใหญ่ที่ดําเนินการตามแนวปฏิบัติ Technical Reference (TR) 84 ว่าด้วยเรื่อง “การจัดการ MICE อย่างปลอดภัย” ซึ่งพัฒนาโดย Singapore Standards Council และกํากับดูแลโดยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ Enterprise Singapore (ESG) เช่น มาตรฐานด้านสุขอนามัย มาตรการจัดการความปลอดภัย และการจัดการในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งคาดว่าจะเสริมความมั่นใจให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั่วโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการจัดงานที่ผสานรูปแบบออนไลน์และสถานที่จริงเข้าไว้ด้วยกัน (hybrid event) เช่น งาน TravelRevive (จัดขึ้นเดือนพฤศจิกายน 2563) ซึ่งมีภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวของไทยเข้าร่วมด้วย และ Geo Connect Asia 2021 (จัดขึ้นเดือนมีนาคม 2564) นับเป็นตัวอย่างการจัดงานที่ปฏิบัติตามมาตรฐานฯ ทั้งนี้ โครงการฯ กําหนดชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศนียบัตรในเดือนพฤษภาคม 2564
.
ปัจจุบัน SACEOS ได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ SG SafeEvent Ambassadors จํานวน 700 คน ที่จะลงพื้นที่กํากับดูแลความเรียบร้อยของงานกิจกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานของโครงการฯ โดยคาดว่าจะการจัดงานกิจกรรม จะเพิ่มขึ้นหลังจากนี้ พร้อมตั้งเป้าจะเพิ่มจํานวนเจ้าหน้าที่ฯ ให้ถึง 1,000 คน ภายในช่วงกลางปี 2564 ทั้งนี้โครงการมีแผนดําเนินการเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และนําไปปรับใช้เป็นมาตรฐานของสิงคโปร์ อย่างเต็มรูปแบบ
.
นอกจากนี้ STB จะตั้งสํานักงานต่างประเทศใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ กรุงบรัสเซลส์ และ นครซานฟรานซิสโก โดยนาย Keith Tan ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STB เสริมว่า ที่ตั้งสํานักงานดังกล่าวเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่จะอํานวย ความสะดวกในการติดต่อกับองค์กรระหว่างประเทศ โดยยกตัวอย่างองค์กรที่มีสํานักงานในบรัสเซลส์ ได้แก่ UN WHO และธนาคารโลก ซึ่งจะดึงดูดการจัดงานประชุมทางธุรกิจไปยังสิงคโปร์มากขึ้น
.
ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากในช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 จึงทำให้ภาคการท่องเที่ยวและรายได้ของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศเป็นอันมาก ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจ MICE ของไทยอาจพิจารณาปรับกลยุทธ์นำเสนอบริการใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยี และระบบดิจิทัล เข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าและบริการด้านอุตสาหกรรม MICE ภายหลังยุคโควิด-19 โดยอาจมุ่งเน้นที่ความคิดสร้างสรรค์ ความปลอดภัยทางสาธารณสุข การอำนวยความสะดวกในธุรกิจ MICE ดังเช่น โมเดลของสิงคโปร์
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์