อุปสงค์ของพลังงานและความสำคัญของพลังงานสะอาดในสิงคโปร์
.
การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อาจทำให้อุปสงค์ต่อพลังงานลดลง 2 – 4 % เมื่อปี 2563 แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 อุปสงค์พลังงานในสิงคโปร์เริ่มขยายตัวขึ้น เนื่องจากสิงคโปร์สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี และมีอัตราการฉีดวัคซีน 82 % ของประชากร ส่งผลให้สิงคโปร์เริ่มเดินหน้าการฟื้นฟูเศรษฐกิจและเปิดประเทศอย่างมั่นใจในปัจจุบัน ทางด้านพลังงานของสิงคโปร์สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2564 สิงคโปร์ได้ประกาศแผน Singapore Green Plan 2030 ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งและการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษนี้ รวมถึงแผน Enhanced 2030 Nationally Determined Contribution เพื่อลดความเข้มข้นของการปล่อยมลพิษในระยะยาว
.
แม้ว่าสิงคโปร์ยังมีความท้าทายในการปล่อยก๊าซคาร์บอน เนื่องจาก 40 % ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนมาจากการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในประเทศ โดยสิงคโปร์ผลิตไฟฟ้าจากการใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติมากถึง 96 % เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น อีกทั้งอุปสงค์การใช้ไฟฟ้าของสิงคโปร์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย จากการที่สิงคโปร์จะส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้ากอปรกับภาคการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมหลักถึง 20 – 25 % ของ GDP สิงคโปร์ และการเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และโลจิสติกส์ของภูมิภาคทำให้อุปสงค์ด้านพลังงานของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว โดยข้อมูลในช่วงปี 2552 – 2562 อัตราการเติบโตของความต้องการไฟฟ้าของสิงคโปร์เฉลี่ยอยู่ที่ 2.6 % ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของสิงคโปร์มีอัตราการเติบโตต่อปีประมาณ 2.5 – 3.1 % เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของประชากร อุณหภูมิ และการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
.
สำนักงานตลาดพลังงานของสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้เพียงพอกับการเติบโตโดยเฉพาะต่อภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง เช่น ศูนย์ข้อมูล, รถยนต์ไฟฟ้า, และเทคโนโลยีการเกษตร โดยปี 2562 เฉพาะศูนย์ข้อมูลอย่าง คลาวด์ เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างยิ่ง โดยมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าคิดเป็น 7 % ในสิงคโปร์ และสิงคโปร์มีศักยภาพดึงดูดผู้ประกอบการในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอื่น ๆ เช่น การลงทุนของ Temasek ร่วมกับ Ocra ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสิงคโปร์มีเสถียรภาพทางการเมืองและโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ดังนั้น แนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและศูนย์ข้อมูล ส่งผลให้สิงคโปร์จำเป็นต้องเพิ่มการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการส่งเสริมความยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อม สิงคโปร์มุ่งเน้นการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าสะอาดจากต่างประเทศและพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ด้วย
.
แหล่งพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
.
การที่แผนด้านพลังงานของสิงคโปร์ระบุเรื่องการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าในภูมิภาค สะท้อนว่าสิงคโปร์ยังคงต้องการส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานจากต่างประเทศและประสงค์จะเข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาดจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยสิงคโปร์กำลังทดลองนำเข้าไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์จากมาเลเซีย เช่นเดียวกับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน และคาดว่าการทดลองในครั้งนี้จะสร้างองค์ความรู้ในการขยายการนำเข้าจากส่วนอื่น ๆ ของภูมิภาค ทางด้านบริษัท Sun Cable สัญชาติออสเตรเลียและสิงคโปร์เริ่มดำเนินการสร้างโซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแถบตอนเหนือของออสเตรเลีย โดยวางแผนที่จะส่งออกมายังสิงคโปร์ผ่านทางสายเคเบิลใต้น้ำ
.
สำนักงานตลาดพลังงานของสิงคโปร์ยังร่วมมือเป็นพันธมิตรกับอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดนสูงถึง 100 เมกะวัตต์ ผ่านโครงการบูรณาการพลังงานกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และมาเลเซีย (LTMS-PIP) และได้รับการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งที่ 39 ณ วันที่ 13 – 16 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยสื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่าบริษัท Keppel Electric และ Electricite Du Laos เริ่มดำเนินโครงการโดยสำรวจความเป็นไปได้ในการส่งไฟฟ้าพลังงานน้ำจากลาวผ่านทั้งไทยและมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ ในปี 2565 – 2566 ซึ่งการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าสะอาดจะช่วยให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและลดการใช้คาร์บอนได้
.
จากการที่สิงคโปร์มีเสถียรภาพทางการเมืองและโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของประชากรและความต้องการใช้ไฟฟ้ามีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ศูนย์ข้อมูล และเทคโนโลยีการเกษตร ส่งผลให้สิงคโปร์จำเป็นต้องเพิ่มการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการส่งเสริมความยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อม สิงคโปร์จึงมุ่งเน้นการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าสะอาดจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เช่น การทดลองนำเข้าไฟฟ้าจากมาเลเซีย อีกทั้งสำนักงานตลาดพลังงานของสิงคโปร์ยังอำนวยความสะดวกในการค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดนผ่านโครงการบูรณาการพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ และบริษัท Keppel Electric และ Electricite Du Laos เริ่มดำเนินโครงการโดยสำรวจความเป็นไปได้ในการส่งไฟฟ้าพลังงานน้ำจากลาวผ่านทั้งไทยและมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ ระหว่างปี 2565 – 2566 ซึ่งการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าสะอาดจะช่วยให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและลดการใช้คาร์บอนได้ ถือเป็นความร่วมมือที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศในการลงทุนและการประกอบธุรกิจร่วมกันในอนาคต ดังนั้น นักลงทุนและภาคเอกชนไทยควรพิจารณาโอกาสในการทำธุรกิจทางด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดร่วมกับสิงคโปร์และประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เพื่อผลักดันเศรษฐกิจของทั้งไทยและสิงคโปร์ให้เติบโตร่วมกัน พร้อมกับการเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์