เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 นาง Josephine Teo รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาดิจิทัลและสารสนเทศ (Minister for Digital Development and Information) ได้เข้าร่วมการประชุม Reuters NEXT APAC 2024 ณ โรงแรม Parkroyal Collection Pickering ของสิงคโปร์
นาง Josephine Teo รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาดิจิทัลและสารสนเทศ ซึ่งดำรงตำแหน่ง Minister in charge of Smart Nation and Cybersecurity ด้วย ได้กล่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับ deepfakes ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลว่า สิงคโปร์กำลังพิจารณาแนวทางการควบคุมเนื้อหาที่ถูกสร้างโดยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยอาจห้ามเผยแพร่เนื้อหาประเภทนี้ชั่วคราวก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของสิงคโปร์ เนื่องจากอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องจริงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งของประเทศได้
นาง Josephine Teo ได้อ้างอิงกรณีของเกาหลีใต้ที่ออกมาตรการห้ามเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกดำเนินการโดย AI ในช่วง 90 วันก่อนการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันการบิดเบือนข้อมูลและเผยแพร่ข่าวสารปลอมเพื่อปลุกปั่นทางการเมือง โดยการละเมิดกฎหมายอาจมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี หรือปรับสูงสุด 50 ล้านวอน (ประมาณ 49,000 ดอลลาร์สิงคโปร์)
การเลือกตั้งครั้งต่อไปของสิงคโปร์ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2568 มาพร้อมกับความท้าทายในการรับมือกับภัยความมั่นคงที่เกิดจาก deepfakes หรือเทคโนโลยีที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ในการสร้างภาพและวิดีโอปลอมที่มีความเหมือนจริงเพื่อปลุกปั่นทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญและหาวิธีจัดการอยู่ ทั้งนี้ นาย Lee Hsien Loong อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโสของสิงคโปร์ ก็เคยตกเป็นเป้าหมายของ deepfakes ผ่านการเผยแพร่วิดีโอที่ให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นในประเด็นระหว่างประเทศมาก่อน ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ต้องพยายามศึกษาแนวทางและแสวงหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุทำนองเดียวกันขึ้นมาอีก
รัฐบาลสิงคโปร์จะมุ่งเน้นการจัดการช่องโหว่ของการเผยแพร่ข่าวสารเท็จ รวมถึงการใช้กฎหมายปกป้องการบิดเบือนข้อมูลทางออนไลน์ (Protection from Online Falsehoods and Manipulation Act – POFMA) ซึ่งอนุญาตให้ทางการสิงคโปร์ออกคำสั่งให้ผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จแก้ไขหรือหยุดแชร์ข้อมูลดังกล่าว
ทั้งนี้ การประชุม Reuters NEXT APAC 2024 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในภาครัฐ ภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน วัฒนธรรม และสถาบันการศึกษา เกี่ยวกับความท้าทายสำคัญที่โลกและสังคมกำลังเผชิญอยู่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่ยั่งยืน
การพิจารณามาตรการชั่วคราวเพื่อควบคุมการใช้เครื่องมือ deepfakes ในช่วงการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมของรัฐบาลสิงคโปร์ในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในยุคปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าและสลับซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง และอาจกระทบต่อความสำเร็จของพรรค PAP ในการช่วงชิงคะแนนเสียงจากประชาชน โดยคาดว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะพยายามรักษาสมดุลระหว่างการควบคุม/จำกัดการเผยแพร่ข่าวสารเพื่อป้องกัน deepfakes กับการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการเปิดรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้สมัครและพรรคการเมืองต่าง ๆ
สำหรับประเทศไทยที่พบปัญหาการใช้ deepfakes สวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อและหลอกให้โอนเงินเป็นจำนวนมาก ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transactions Development Agency : ETDA) ที่ได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ สื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ แก่ประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี AI และ deepfakes นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสจากปัญหาคดีออนไลน์และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผ่านทางโทรศัพท์ 1212 และเพจอาสาจับตาออนไลน์ https://m.facebook.com/DESMonitor/ และ เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com สายด่วน บช.สอท. 1441

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC) / สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
อ้างอิง:
- https://thaibizsingapore.com/news/%e0%b8%82/policies/singapore_ban_deepfake_during_election/?fbclid=IwY2xjawEydO9leHRuA2FlbQIxMQABHRc5qINsj4duP6CTJgOyu5ZqMT4w3vw1LoLXTAzArjC6rQOK-Zajg8dn6Q_aem_DfGAlvAfkvM-WXE7vM25Zg
- https://www.businesstimes.com.sg/singapore/economy-policy/temporary-deepfake-ban-discussed-way-tackle-ai-falsehoods-during-singapore-elections
- www.mdes.go.th/news/detail/5828-ดีอีเอส-เตือนอย่าหลงเชื่อ-อย่าแชร์–คลิปเสียงปลอม–สร้างเรื่องเสมือนจริง-หลอกลวงประชาชน
- https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/Knowledge-Sharing/Articles/aigc/AI-Deepfake.aspx