โรงพยาบาลในสิงคโปร์เริ่มให้ความสนใจและนำเสนอเมนูทางเลือกอาหารจากพืช (Plant-Based) สำหรับผู้ป่วยใน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามด้านความยั่งยืน อีกทั้ง ยังเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และมีความสมดุลทางคุณค่าโภชนาการ
โรงพยาบาล Alexandra และ Ng Teng Fong General ได้นำเมนูที่ทำจากเนื้อวัวและเนื้อแกะออกจากเมนูผู้ป่วยใน เนื่องจากเป็นเนื้อสัตว์ที่ผลิตคาร์บอนมากที่สุดในโลก โดยภายหลังได้หันมาแทนที่ด้วยอาหารจากพืช ซึ่งทำจากโปรตีนถั่วเหลือง ขณะเดียวกันโรงพยาบาลสตรีและเด็ก KK ก็เริ่มให้บริการเมนูทางเลือกอาหารจากพืช รวมทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ( National University Hospital : NUH) ที่ได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2561 อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลดังกล่าวได้เสนอเมนูทางเลือกอาหารจากพืชให้แก่ผู้ป่วยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
โฆษก NUH กล่าวว่า อาหารที่ทำจากพืชมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก และการนำอาหารจากพืชมาเป็นทางเลือกในเมนูผู้ป่วยจะเป็นการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์จากพืชส่วนใหญ่มักจะมีโซเดียมในระดับสูง
ดังนั้น เชฟและนักโภชนาการ ต่างร่วมกันพัฒนาสูตรอาหารที่มีส่วนประกอบจากพืชเพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามข้อกำหนดทางโภชนาการของผู้ป่วย เช่น การลดปริมาณเกลือ ขณะที่ยังคงสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และข้อจำกัดด้านอาหารของผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลทั้ง 4 แห่งจะนำเสนอเมนูทางเลือกอาหารจากพืชให้เฉพาะผู้ป่วยในที่ไม่มีข้อจำกัดด้านอาหาร เว้นแต่ผู้ป่วยที่ต้องการอาหารเฉพาะทาง เช่น อาหารที่มีเกลือต่ำหรือโพแทสเซียมต่ำ จะได้รับอาหารที่ปรับให้เข้ากับสภาวะทางการแพทย์เป็นรายบุคคล

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพทั่วโลกมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 4% ของโลก และข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ภาคปศุสัตว์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12 % ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งทั้งสองภาคอุตสาหกรรมต่างเพิ่มความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การผลักดันการใช้อาหารจากพืชแทนเนื้อสัตว์ จึงเป็นหนึ่งในความพยายามที่ผลักดันให้เกิดความยั่งยืนระยะยาวของโรงพยาบาลในสิงคโปร์
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมและศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตและตลาด Plant-based Food ซึ่งจะเป็นโอกาสของผู้ผลิตที่อาจต้องปรับเพิ่มสินค้าให้อยู่ในรูปแบบพร้อมรับประทาน หรือการเป็นคู่ค้ากับธุรกิจร้านอาหาร เพื่อช่วยให้เกิดการรับรู้และเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม เช่น อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการไทยไปยังสิงคโปร์ได้เช่นกัน

ข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์