สถานการณ์เศรษฐกิจของสิงคโปร์ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 โดย GDP ของสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 9.5 เมื่อคิดแบบ Quarter-on-Quarter แต่ยังคงหดตัวร้อยละ 5.6 เมื่อคิดแบบ Year-on-Year (YoY) ในขณะที่ไตรมาสที่ 4 GDP สิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 2.1 แบบ QoQ และระดับการหดตัวลดลงเหลือร้อยละ 3.8 แบบ YoY GDP ของสิงคโปร์ตลอดทั้งปี 2563 หดตัวร้อยละ 5.8 ซึ่งต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวร้อยละ 6 – 6.5
.
สำหรับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ (1) การก่อสร้าง ซึ่งหดตัวเฉลี่ยทั้งปีร้อยละ 33.7 เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดฯ ในหอพักแรงงานต่างชาติ (2) การโรงแรม ที่พัก อสังหาริมทรัพย์ บริการอาหาร และบริการอื่น ๆ หดตัวร้อยละ 12.6 และ (3) ภาคการค้าปลีก-ส่ง การขนส่งและการจัดเก็บสินค้าหดตัวร้อยละ 11.2 ในขณะที่ภาคการผลิตขยายตัวร้อยละ 7.1 ทั้งนี้ ตลาดแรงงาน สิงคโปร์ได้รับผลกระทบอย่างยิ่งจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยกระทรวงแรงงานของสิงคโปร์เปิดเผยอัตราการว่างงานเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2563 ร้อยละ 3.0 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 2.3 การจ้างงานในสิงคโปร์ปี 2563 รวม 3,597,700 ล้านตําแหน่ง ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 186,600 ตําแหน่ง โดยเฉพาะในธุรกิจการบิน การคมนาคม การท่องเที่ยว โรงแรม และการค้าปลีก-ส่ง ในขณะที่สิงคโปร์ยังคงต้องการแรงงานต่างชาติ รวมถึงแรงงานจากประเทศไทยในภาคการก่อสร้างอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสิงคโปร์ได้รับแรงกดดันจากประชาชนให้ส่งเสริมการจ้างงานคนชาติสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราการว่างงานของคนชาติสิงคโปร์สูงถึงร้อยละ 4.2 ในปี 2563 ซึ่งในช่วงปี 2554 – 2563 อัตราการว่างงานของคนชาติสิงคโปร์ไม่เคยสูงกว่าร้อยละ 3.3 ทําให้รัฐบาลสิงคโปร์ต้องออกมาตรการควบคุม การจ้างแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะในระดับมืออาชีพ (Professionals, Managers, Executives and Technicians – PMET)
.
แนวโน้มเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2564 กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ (MTI) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะฟื้นตัว และ GDP จะขยายตัวร้อยละ 4 – 6 โดยการบริโภคภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปิดเศรษฐกิจและสังคมระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2563 อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส ที่ 1/2564 ภาคบริการ อาหาร การท่องเที่ยว โรงแรม และการคมนาคม จะยังคงต้องพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นสําคัญ ทั้งนี้ MTI ประเมินแนวโน้มการฟื้นฟูเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2564 ว่า (1) ภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะเพิ่มการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีเพื่อรองรับอุปสงค์จากตลาด 5G ที่เพิ่มขึ้น และธุรกิจประกันภัยจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง (2) การบิน การท่องเที่ยว การค้าปลีกและบริการอาหาร จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่จะยังไม่กลับมามีสภาพคล่องเท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ (3) ภาคการก่อสร้างจะฟื้นตัวจากปีที่แล้ว แต่จะยังคงมีข้อจํากัดจากมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อควบคุมโรคระบาดฯ (Safe Management Measures – SMMS)
.
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – สิงคโปร์ปี 2563 การค้าไทย – สป. ยังคงขยายตัวในปี 2563 มูลค่าการค้ารวม 531,636.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 19,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.89 โดยไทยได้ดุลการค้า 59,097.74 ล้านบาท (ขยายตัวร้อยละ 58.79) แบ่งเป็นการส่งออก 295,367.14 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.44 การนําเข้า 236,269.40 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.6 ซึ่งมูลค่าการค้าที่ขยายตัวในปี 2563 ทําให้สิงคโปร์เป็นคู่ค้าสําคัญอันดับที่ 5 ของไทย สูงขึ้น 1 อันดับจาก ปี 2562 รองจาก จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และ มาเลเซีย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของสิงคโปร์ ทั้งนี้ สินค้าที่กระทรวงพาณิชย์ไทยผลักดันการส่งออกมายัง สิงคโปร์ในปี 2563 – 2564 ได้แก่ (1) ข้าว (2) อาหารสําเร็จรูป (3) เครื่องดื่ม (4) ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและผลไม้แห้ง (5) อัญมณีและเครื่องประดับ มากกว่านั้น จากสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ปัจจุบันสิงคโปร์เป็น ประเทศเป้าหมายการลงทุนโดยตรงอันดับที่ 1 ของไทย โดยในช่วง ม.ค. – ก.ย. 2563 การลงทุนโดยตรงของไทยในสิงคโปร์มีมูลค่ารวม 122,830 ล้านบาท ในขณะที่ สิงคโปร์เป็นแหล่งที่มาของเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นอันดับที่ 4 ของไทย รองจาก ญี่ปุ่น จีน และเนเธอร์แลนด์ โดยมีโครงการที่ BOI อนุมัติ 136 โครงการ ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นผู้ลงทุนอันดับที่ 1 ของไทยในอาเซียนต่อเนื่องกว่า 1 ทศวรรษแล้ว นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ได้ดําเนินความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระบบการชําระเงิน PayNow ของ สิงคโปร์กับ PromptPay ของไทย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนทดสอบระบบ และมีกําหนดจะเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2564
.
ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของสิงคโปร์เพื่อวิเคราะห์แผนการลงทุนในอนาคตและปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวและแนวโน้มในอนาคต โดยอาจพิจารณาถึงอุตสาหกรรมที่สิงคโปร์สนใจและมีศักยภาพในการลงทุนในประเทศไทย ได้แก่ (1) ชีวการแพทย์/การแพทย์ผ่านระบบทางไกล (Biomedicine/Telemedicine) (2) โลจิสติกส์อัจฉริยะและการเก็บสินค้าอัจฉริยะ (Smart Logistic and Smart Storage) (3) ปัญญาประดิษฐ์และเศรษฐกิจดิจิทัล และ (4) ความมั่นคงทางอาหารและเทคโนโลยีเกษตร (Food Security and AgriTech) เพื่อเป็นแนวทางในการขยายโอกาศทางด้านความร่วมมือทางธุรกิจมากขึ้น ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ อยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์โดยจะร่วมมือกับสำนักงานการค้าต่างประเทศ ณ สิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในสิงคโปร์ รวมทั้งสนับสนุนสำนักงานการค้าต่างประเทศ ณ สิงคโปร์ ในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยมายังสิงคโปร์ ทั้งการจัดงานแสดงสินค้า Thailand Week การส่งเสริมโครงการ Thai Select และโครงการ Thai Fruits Golden Months รวมถึงการจัดงานสัมมนาทางธุรกิจและงานจับคู่ธุรกิจในรูปแบบออนไลน์และในสถานที่จริงอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาโอกาสดังกล่าวในการทำธุรกิจในอนาคตได้อีกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์