ในปี 2567 เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 4.0 ซึ่งเป็นอัตราเติบโตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่หลายภาคส่วนคาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะชะลอตัวลงในปี 2568 โดย MTI คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) จะเติบโตที่ร้อยละ 1-3 ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสํานัก คาดการณ์ว่าจะเติบโต ที่ร้อยละ 2.5-3 ทั้งนี้ ในปี 2568 เศรษฐกิจสิงคโปร์ มีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากภาคการผลิต เนื่องจากความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกยังคงสูง และจากภาคบริการ ในด้านการเงิน การค้า และการสื่อสาร อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นความท้าทายสําคัญของเศรษฐกิจสิงคโปร์ในปี 2568
ปัจจัยสําคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2568
สิงคโปร์มี FTA กับสหรัฐฯ จึงอาจไม่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการประกาศเพิ่มภาษีศุลกากรของประธานาธิบดี ทรัมป์ ซึ่งคาดว่าจะปรับภาษีศุลกากรต่อประเทศคู่ค้าเป็นร้อยละ 20 และต่อจีนเป็นร้อยละ 60 อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาสินค้านําเข้าทั่วโลกสูงขึ้น อุปสงค์ลดลง และปริมาณการค้าลดลงสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบอย่างหนักในฐานะประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศและหากเกิดการตอบโต้ทางภาษีในระดับรุนแรงระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ จีน และ EU นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าอาจส่งผลให้ GDP ของสิงคโปร์ลดลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 1
นอกจากนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2568 จะเติบโตร้อยละ 4.5 ซึ่งลดลงจากการประมาณการ ที่ร้อยละ 4.8 ในปี 2567 และร้อยละ 5.2 ในปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักจากนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ กําลังการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การนําเข้าสินค้าลดลง และเกิดภาวะอุปทานส่วนเกิน ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2568 จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค


ความท้าทายด้านนโยบายทางการเงิน
ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) พึ่งพาการส่งออกในเอเชียจึงประสบความท้าทายในการบริหารนโยบายทางการเงิน ซึ่งจากเดิมที่วางแผนลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2568 เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเผชิญข้อจํากัดมากขึ้นในการลดดอกเบี้ย เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออันเนื่องมาจากภาษีศุลกากร ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่าขึ้น และแนวทางนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งลดจํานวนการปรับลดดอกเบี้ยจาก 4 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง ในปี 2568 และการปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของสหรัฐ จากเดิมร้อยละ 2.1 เป็นร้อยละ 2.5
แม้ MAS จะใช้การกําหนดกรอบอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Band) ในการจัดการเงินเฟ้อ โดยปรับให้ค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่าหรือแข็งค่าตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นทําให้ค่าเงินในประเทศอื่นอ่อนลง
ทั้งนี้ เมื่อผนวกกับปัจจัยเงินหยวนอ่อนค่าจึงอาจส่งผลให้ประเทศคู่ค้าหลักของสิงคโปร์ต้องปกป้องค่าเงินของตนเอง ซึ่งจะสร้างแรงกดดัน ให้ MAS ต้องดําเนินนโยบายรักษาความสามารถในการแข่งขันทางการค้า แต่หากค่าเงินสิงคโปร์แข็งค่ามากเกินไปในช่วงที่อุปสงค์ ทั่วโลกลดลงก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ได้

ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์