นาย Chan Chun Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์กล่าวในงานสัมมนากระทรวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Tourism Industry Conference – TIC) เรื่องการจัดสรรงบประมาณเพิ่มจํานวน 68.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สําหรับกองทุนการพัฒนาการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Tourism Development Fund – TDF) พร้อมทั้งเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ Tourism Technology Transformation Cube (Tcube) ภายใต้การดําเนินการของการท่องเที่ยวแห่งสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board – STB) โดยแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของสิงคโปร์มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในสิงค์โปร์และช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยกองทุน TDF จะสนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ธุรกิจภาคการท่องเที่ยวต่อไปจนถึงช่วงปลายเดือน มี.ค. 2565
.
กองทุน TDF ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อรองรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว การเพิ่มประสิทธิภาพ ในการดูแลนักท่องเที่ยวในสิงคโปร์และอาชีพภาคบริการที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งแต่ปี 2559 – 2563 กองทุน TDF มีมูลค่ารวม 848.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยมีการจัดสรรงบประมาณ 3 ครั้ง ได้แก่ (1) ปี 2559 จํานวน 700 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (2) ปี 2563 จํานวน 90 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยจัดสรรจาก Resilience Package และ (3) เมื่อเดือน เม.ย. 2564 จํานวน 68.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งนี้ กองทุน TDF แบ่งออกเป็นกองทุนย่อย เช่น (1) กองทุน Experience Step-Up Fund (ESF): พัฒนาการท่องเที่ยวสิงคโปร์ โดยการปรับปรุงเนื้อหาและการปรับใช้เทคโนโลยี (2) กองทุน Kickstart Fund: สนับสนุนการทดลองนวัตกรรมเพื่อยกระดับซอฟแวร์ของการท่องเที่ยว สิงคโปร์ และ (3) กองทุน The Training Industry Professionals in Tourism (TIP-IT): พัฒนาศักยภาพของลูกจ้าง
.
STB ได้ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์ม Tcube หรือพื้นที่ด้านนวัตกรรมสําหรับธุรกิจการท่องเที่ยวภาคเอกชนในการทดสอบและปรับปรุงเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (เมื่อปี 2563 แพลตฟอร์มฯ ใช้ชื่อว่า ThreeHouse) แพลตฟอร์มนี้จะช่วยสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) พื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (2) พื้นที่ทดลองแนวคิดใหม่ผ่านการทดสอบการใช้งานจริง และการดําเนินการนําร่อง และ 3) การเตรียมพร้อมสร้างและปรับโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน ทั้งนี้ Tcube จะเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัล อาทิ การวิเคราะห์ข้อมูล และบริการให้คําปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการสร้างต้นแบบสําหรับธุรกิจการท่องเที่ยวที่ต้องการปรับใช้กลยุทธ์ด้านดิจิทัล นอกจากนี้ STB ร่วมกับสหภาพแรงงานแห่งชาติสิงคโปร์ (National Trades Union Congress – NTUC) พัฒนาแผนแม่บทการพัฒนาขีดความสามารถภาคการท่องเที่ยว (Tourism Sector Capability Development Roadmap) ด้วย
.
สําหรับปี 2560 เพื่อเตรียมพร้อมแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้มีทักษะที่จําเป็นในช่วงหลังโควิด-19 โดยแผนแม่บทฯ จะดําเนินการภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสิงคโปร์กับภาคเอกชนชั้นนําในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตร Alliances for Action (AfAs) ผ่าน 7 แนวคิดหลัก ได้แก่ (1) การสร้างสภาพแวดล้อมด้านดิจิทัล (2) ความยั่งยืน (3) เทคโนโลยี (4) การศึกษา (5) การค้าอัจฉริยะและหุ่นยนต์ (6) การปฏิรูปห่วงโซ่อุปทานสู่ดิจิทัล และ (7) การสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ในสิงคโปร์ พร้อมคณะทํางานเฉพาะกิจ Emerging Stronger Taskforce สิงคโปร์
.
นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์พยายามผลักดันให้สิงคโปร์เป็นแบบอย่างของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนตามนโยบาย Singapore Green Plan 2030 โดยเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2564 รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ กล่าวแถลงนโยบายต่อคณะกรรมการ Committee of Supply ของรัฐสภาสิงคโปร์เรื่องการท่องเที่ยวว่า นักท่องเที่ยวจะใส่ใจกับการเดินทางแบบยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต จึงควรส่งเสริมการพัฒนาโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สิงคโปร์จะปรับปรุงเกาะ Sentosa ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (carbon-neutral) ภายในปี 2573 ก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ธุรกิจ MICE มีบทบาทสําคัญในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสิงคโปร์ โดยสร้างรายได้ให้ประเทศถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณเกือบร้อยละ 1 ของ GDP สิงคโปร์และสร้างงานถึง 34,000 ตําแหน่ง
.
สำหรับประเทศไทยที่เป็นประเทศพึ่งพาการท่องเที่ยวร้อยละ 21.60 (ข้อมูล ณ ปี 2563) ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาจพิจารณาศึกษาแผนงานการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของสิงคโปร์เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะการนำดิจิทัลมาพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์