บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาธุรกิจ DinarStandard และสื่อออนไลน์ SalaamGateway.com คาดการณ์ว่า มูลค่าเศรษฐกิจอิสลามทั่วโลก (State of the Global Islamic Economy – SGIE) จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2562 SGIE มีมูลค่ารวม 2.02 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตร้อยละ 3.2 แบบ YOY ส่วนปี 2563 หดตัวร้อยละ 8 เช่นเดียวกับ เศรษฐกิจโลก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีมูลค่าประมาณ 1.86 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า SGIE จะฟื้นตัวในปีนี้ และจะขยายตัวจนมีมูลค่าสูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2567
.
สิงคโปร์เป็นตลาดที่มีศักยภาพและพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2563 สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 15 ของดัชนีเศรษฐกิจอิสลามโลกจากที่ไม่เคยติดอันดับมาก่อน ถือเป็นความสําเร็จสําหรับประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมเพียงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด โดยภาคอุตสาหกรรมอิสลามที่สิงคโปร์ ติดอันดับ 1 ใน 10 คือ (1) กลุ่มอาหารฮาลาลสิงคโปร์ เป็นลําดับที่ 2 (2) กลุ่มยาและเครื่องสําอาง เป็นลําดับที่ 3 (3) กลุ่มสื่อบริการ เป็นลําดับที่ 3 และ (4) การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิมเป็นลําดับที่ 9 (อันดับ 1 – 4 ได้แก่ มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี และไทย)
.
ปัจจุบันตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่า 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,285,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 69 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลนั้น เป็นอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจอิสลามในสิงคโปร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (สําหรับกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มการเงิน) และเติบโตเร็วที่สุด ภาครัฐและเอกชนต่างสนับสนุนและผลักดันอุตสาหกรรม ให้เติบโต ดังนี้ (1) ภาครัฐ สภาศาสนาอิสลามแห่ง สิงคโปร์ (Islamic Religious Council of Singapore – MUIS) กล่าวในที่ประชุม ว่า MUIS มุ่งเน้นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยในปี 2562 สถานประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล จํานวน 4,385 แห่ง (เป็นผู้ผลิตร้อยละ 19) (2) ภาคเอกชน มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่ได้รับมาตรฐานสินค้าฮาลาลเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศที่มีประชากรมุสลิมจํานวนมาก เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อียิปต์ ตุรกี ปากีสถาน อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย นอกจากนี้ องค์กรในสิงคโปร์หลายแห่งยังได้พัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น การผลิตอาหาร ที่พร้อมรับประทานหรืออาหารแช่แข็ง สําหรับผู้บริโภคที่มีข้อจํากัดด้านเวลาในชีวิตประจําวัน หรือการผลิตโปรตีนทางเลือก เช่น เนื้อสัตว์ทางเลือก สาหร่าย โปรตีนจากพืชหรือเห็ดและนม ถือเป็นกระแสใหม่ในวงการอาหารฮาลาลที่ได้รับผลตอบรับที่ดี
.
สำหรับกลุ่มยาและเครื่องสําอางฮาลาล มีการเติบโตร้อยละ 29 ต่อปี และคาดว่าภายในปี 2567 จะมีมูลค่าถึง 76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สําหรับตลาดสิงคโปร์ กลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจและมีศักยภาพคือผู้บริโภควัยทํางานและวัยรุ่น โดยบริษัทหลายแห่ง เน้นการตลาดดิจิทัลซึ่งเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
ในส่วนของกลุ่มสื่อบริการฮาลาล ถึงแม้จะอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนา แต่สิงคโปร์ยังเป็นตลาดที่เติบโตและมีศักยภาพสําหรับสินค้ากลุ่มนี้ โดยเฉพาะธุรกิจ Startup ที่พัฒนาสื่อบริการและกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานในหลาย ๆ กลุ่ม เช่น บริษัท Bits Media ของ สิงคโปร์ ก่อตั้งเมื่อปี 2552 ผู้คิดค้นและพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน “Muslim Pro” ที่มีชื่อเสียง ในตลาดอิสลามทั่วโลก โดยสามารถบอกเวลาละหมาดในท้องถิ่นและทิศทางของนครเมกกะ รวมถึงเพลย์ลิสต์ของข้อพระคัมภีร์ และการอ่านอัลกุรอานที่เปิดตัวในช่วงเดือนรอมฎอน หรือ บริษัท CollabDeen ธุรกิจดิจิทัล B2B (Business-to-Business) ด้านแพลตฟอร์มการสื่อสารออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ที่ถึงแม้จะเป็นการสร้างแบรนด์และแอปพลิเคชันของชาวมุสลิม แต่สามารถประยุกต์กับการผลิตสื่อของศาสนา ชุมชน และองค์กรอื่น ๆ ได้ อาทิ แพลตฟอร์มฉลากสีขาวสําหรับโบสถ์คริสต์
.
การขยายธุรกิจฮาลาลสู่ต่างประเทศของสิงคโปร์ไม่ได้จํากัดอยู่แค่การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นการหาผู้ลงทุนต่างประเทศ เช่น Startup มุ่งหานักลงทุนรายย่อยที่มีรายได้สูง (Angel Investor) จากต่างประเทศที่มีปริมาณมากกว่า เนื่องจากเป็นการยากในการระดมทุนจากนักลงทุนดังกล่าวในสิงคโปร์
.
ถึงแม้รัฐบาลสิงคโปร์ จะให้ความสําคัญและผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมอิสลามิก แต่พบว่าแรงผลักดันที่สําคัญในการลงทุนนั้นมาจากภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ เช่น การเชื่อมโยงเชิงกลยุทธ์ระหว่างบริษัท เงินลงทุน Elite Partners Capital กับหอการค้าและ อุตสาหกรร มาเลย์ สิงคโปร์ (Singapore Malay Chamber of Commerce and Industry) รวมถึง การระดมทุนสําหรับ Startup อย่าง WhatsHalal ดิจิทัลโซลูชั่นสําหรับการจัดการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มฮาลาล
.
การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ Traceability เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนและ Startup สิงคโปร์ ให้ความสําคัญในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น OneAgrix Startup แพลตฟอร์มดิจิทัลสําหรับการค้าอาหารฮาลาลและ อาหารทางการเกษตรแบบ B2B หรือ WhatsHalal ที่ใช้เทคโนโลยีที่มาจัดการข้อมูล (Blockchain) หรือพัฒนา Halal Scanner ในแอปพลิเคชัน โทรศัพท์ เพื่อเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ตรวจสอบ รวมทั้งหน่วยงานที่ให้การรับรองฮาลาล ทุกฝ่ายในห่วงโซ่อุปทานสามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลของอาหารว่าได้รับการรับรองฮาลาลหรือไม่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
.
ปัจจุบัน แม้ว่าไทยยังไม่ติดอันดับในดัชนีเศรษฐกิจอิสลามโลก และดัชนีอาหารฮาลาลโลก (ซึ่งมาเลเซียเป็นอันดับ 1 สิงคโปร์ เป็นอันดับ 2 อินโดนีเซีย เป็นอันดับ 4 และบรูไน เป็นอันดับ 9) แต่ภาครัฐไทยได้มีการผลักดันอุตสาหากรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมสินค้า และผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล เพื่อจัดทําวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตการเกษตรมาตรฐานฮาลาล โดยใช้หลักศาสนาและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อน โดยมีแผนจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Halal Hub) สถาบันฮาลาล (Halal Academy) และการพัฒนาข้อมูลมหัตฮาลาล (Thailand Halal Big Data) รวมถึงการส่งเสริมฐานข้อมูลวัตถุดิบฮาลาล (Hala H Number) อีกด้วย
.
นอกจากนี้ ในปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มีการลงมติเห็นชอบวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลเกษตรมาตรฐานฮาลาล ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นําในการพัฒนา ผลิต และส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากลสู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย โดยใช้หลักศาสนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในปี 2570
.
ซึ่งความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยนั้นจะจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ตลาดสินค้าฮาลาลมีแนวโน้มที่สดใสมากขึ้น ประกอบกับศักยภาพของไทยในการผลิตอาหารชั้นนำของโลก ผู้ประกอบการไทยจึงอาจพิจารณาเข้าไปลงทุน หรือร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในสิงคโปร์ และใช้สิงคโปร์ เป็นแหล่งส่งออก (re-export) สินค้าไปสู่ประเทศที่สาม เพื่อขยายการส่งออกโดยอาศัยจุดแข็งของสิงคโปร์ ในด้านการจัดการการเงิน และการคมนาคมขนส่ง เพื่อเพิ่มโอการส่งออกสินค้าฮาลาล โดยเฉพาะอาหารฮาลาลที่ไทยมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ ไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟฟริกา ยุโรปและอเมริกาได้
.
ขอบคุณรูปภาพจาก:
https://manometcurrent.com/global-halal-food-and-drink-market-2020-revenue-opportunity-forecast-and-value-chain-2025/