เทคโนโลยีการเงินได้เพิ่มความสะดวกและเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่ายเงินในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างต่อเนื่อง การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เทคโนโลยีการเงินขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยหนึ่งในเครื่องมือการเงินออนไลน์ที่กำลังเติบโตอย่างมากในสิงคโปร์ คือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet) ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยด้วยระบบรักษาความปลอดภัยสองขั้น (2FA) ทั้งยังช่วยลดการแพร่ระบาดเพราะไม่ต้องสัมผัสเงินสด ไม่ต้องพกเงินสดครั้งละมาก ๆ และสามารถตรวจสอบเงินในกระเป๋าผ่านระบบออนไลน์ได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ผู้ให้บริการบางรายยังมอบสิทธิประโยชน์แก่ผู้ใช้งาน เช่น การสะสมคะแนนเพื่อแลกของสมนาคุณ ซึ่งช่วยดึงดูดผู้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น
บริษัท Worldpay ผู้ให้บริการเทคโนโลยีและการชำระเงินรายงานว่า จำนวนผู้ใช้งาน E-wallet ทั่วโลกบนตลาด E-commerce ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2563 E-wallet เป็นรูปแบบการชำระเงินที่เป็นที่นิยมที่สุด คิดเป็น 44.5% ของการชำระเงินในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะคนจีนที่ใช้ E-wallet ในชีวิตประจำวันสูงถึง 72.1%
การใช้ E-wallet ในสิงคโปร์
สถิติปี 2563 ตลาด E-commerce ในสิงคโปร์มีมูลค่าราว 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตจนมีมูลค่าถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 40% ในปี 2567 รูปแบบการทำธุรกรรมในปัจจุบันที่นิยมมากที่สุดในสิงคโปร์ยังคงเป็นบัตรเครดิต คิดเป็น 45% ตามด้วย E-wallet คิดเป็น 20% โดย E-wallet ที่ได้รับความนิยมสูงได้แก่ GrabPay และ DBS Paylah! ที่มีแนวโน้มเติบโตประมาณ 27% ในปี 2567
ชาวสิงคโปร์มีแนวโน้มที่ใช้ E-wallet เพื่อชำระเงินหน้าร้าน (point of sale – POS) มากขึ้น โดยคาดว่าจะเติบโต 20% ในปี 2567 แม้ว่าในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่จะยังนิยมใช้บัตรเครดิตถึง 38% ส่วนการใช้จ่ายด้วยเงินสดคิดเป็น 26% อย่างไรก็ตาม การใช้เงินสดนั้นมีแนวโน้มที่จะลดลงในช่วงต่อจากนี้ไป
การสนับสนุนจากภาครัฐ
ตั้งแต่ปี 2561 หน่วยงาน Enterprise Singapore (ESG) ภายใต้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ร่วมกับสำนักงานพัฒนาการสื่อสารและสารสนเทศ (InfoComm Media Development Authority – IMDA) คณะกรรมการการเคหะและพัฒนาบ้านพักอาศัยแห่งชาติ (Housing and Development Board – HDB) หน่วยงาน JTC Corporation และ สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment Agency – NEA) ร่วมกันจัดทำ “โครงการ SGQR” เพื่อพัฒนา QR code สำหรับการชำระเงินรวมกันหนึ่งเดียวทั้งประเทศ และนับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการสร้างระบบการชำระเงินแบบครบวงจร “Unified e-Payment Solution” ซึ่งรองรับการชำระเงินผ่านผู้ให้บริการด้าน E-wallet 19 ราย ซึ่งรวมถึง DBS PayLah! GrabPay และ Singtel Dash และได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งผู้ประกอบการ ร้านค้า และประชาชน
นโยบายดังกล่าว ทำให้การชำระเงินผ่านทาง E-wallet ด้วย QR code ที่ร้านค้าในศูนย์อาหารท้องถิ่น (hawker center) เพิ่มขึ้นจาก 500 ร้าน สู่การทะลุ 10,000 รายในปี 2564 โดยข้อมูลจาก IMDA ระบุว่า เดือนมกราคม 2564 มีปริมาณการทำธุรกรรมกว่า 1.2 ล้านครั้ง มูลค่ารวม 14 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
นอกจากนี้ ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้มอบหมายให้บริษัท KPMG สำรวจระบบนิเวศการชำระเงิน (payment ecosystem) ในสิงคโปร์ โดยแนะนำว่า สิงคโปร์สามารถพัฒนาศักยภาพเพื่อปรับปรุงระบบการชำระเงินให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากลและวิสัยทัศน์ชาติอัจฉริยะ (Smart Nation) ของสิงคโปร์ใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงการสร้างระบบการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ (2) การพัฒนาระบบการจัดการ เช่น การจัดทำพิมพ์เขียวเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมการชำระเงิน และ (3) การพัฒนาบริการแก้ไขปัญหาและบูรณาการระบบเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว เช่น การปรับปรุงประสบการณ์ผู้บริโภคที่ใช้งานระบบการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดซื้อขาย หรือการพัฒนาระบบการชำระเงินแบบไร้รอยต่อ
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก Worldpay รายงานว่า ปี 2564 การชำระเงินด้วยเงินสดยังคงเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในตลาดการชำระเงินหน้าร้าน คิดเป็น 63% ของการทำธุรกรรมการชำระเงินทั้งหมด ในขณะที่การโอนเงินผ่านธนาคาร (bank transfer) ได้รับความนิยมในตลาด E-commerce 37% ที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนในไทยต้องการพัฒนาให้ไทยเป็นสังคมไร้เงินสด (cashless society) โดยธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมมือกับผู้บริการเครือข่ายบัตรเครดิตระดับโลกพัฒนา “Thai QR Standard” ครั้งแรกเมื่อปี 2561 เพื่อสร้างมาตรฐานกลางของการชำระเงินด้วย QR code ในไทย อย่างไรก็ดี ธุรกิจ E-wallet ในไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ผู้ให้บริการในประเทศไทยสามารถใช้จุดแข็งและข้อดีของระบบ E-wallet ข้างต้น เพื่อเพิ่มแรงจูงใจและเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้จ่ายแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งธุรกิจในการจัดการการเงินและต่อลูกค้าที่จะได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยจาก E-wallet
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์