เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore: MAS) ได้ออกพันธบัตรสีเขียว (sovereign green bond) เป็นครั้งแรกในชื่อ Green Singapore Government Securities (Infrastructure) หรือ Green SGS (Infra) อายุ 50 ปี มูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ มีอัตราผลตอบแทนร้อยละ 3.04 ต่อปี โดยแบ่งการจำหน่ายให้แก่นักลงทุนสถาบันที่ผ่านการรับรองจำนวน 2,350 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และให้แก่นักลงทุนรายย่อยอีก 50 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
รายได้จากการจำหน่ายในช่วงแรกจะสมทบทุนสนับสนุนโครงการเพื่อความยั่งยืนตาม Singapore Green Plan 2030 โดยโครงการที่คาดว่าจะลงทุน ได้แก่ พลังงานงานหมุนเวียน อาคารสีเขียว การขนส่งสีเขียว การจัดการน้ำและบำบัดน้ำเสียอย่างยั่งยืน การควบคุมมลพิษ เศรษฐกิจหมุนเวียน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การขยายเครือข่ายรถไฟฟ้า การเพิ่มอัตราใช้บริการขนส่งสาธารณะ ลดการปล่อยมลพิษจากขนส่งทางบก เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจสิงคโปร์คาร์บอนต่ำและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับไทยก็มีการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เช่นกัน โดยเมื่อปี 2563 กระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรมูลค่า 100,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการขนส่งพลังงานสะอาดในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก รวมถึงโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 นอกจากนี้ ยังได้มีการจดทะเบียนพันธบัตรในตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก (Luxembourg Green Exchange – LGX) ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์สำหรับตราสารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Securities) ชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย ด้านภาคเอกชนไทยได้ออกหุ้นกู้สีเขียวเช่นกันเพื่อระดมทุนในโครงการพลังงานสะอาด ขนส่งมวลชน พลังงานแสงอาทิตย์ การจัดการขยะ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญกับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการสามารถใช้สิ่งนี้ในการมองหาแนวทางพัฒนาธุรกิจเพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะทวีความสำคัญขึ้นอย่างมากในอนาคตอันใกล้
ที่มาข้อมูลเพิ่มเติม