เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ได้เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมไฮโดรเจน (Centre for Hydrogen Innovations – CHI) อย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการวิจัยไฮโดรเจนและการใช้งานเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้
ศูนย์ CHI ก่อตั้งขึ้นในรูปแบบศูนย์เสมือนจริงครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 โดยได้รับเงินลงทุนรวม 25 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ประกอบด้วยเงินบริจาค 15 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จาก Temasek Foundation และเงินสมทบ 5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จากรัฐบาลสิงคโปร์ และเงินทุนเพิ่มเติมจาก NUS โดยมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยการจัดการไฮโดรเจน 4 ด้าน ได้แก่ (1) การผลิตไฮโดรเจน (2) การจัดเก็บไฮโดรเจน (3) ระบบนําพาไฮโดรเจน (hydrogen carrier systems) และ (4) การใช้ไฮโดรเจน โดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญที่หลากหลายภายใน NUS เพื่อการพัฒนาศูนย์ฯ
ทั้งนี้ ศูนย์ CHI ได้คัดเลือกโครงการเพื่อจะทำการศึกษาวิจัยแล้วจำนวน 8 โครงการ ซึ่งมีขอบเขตการวิจัยที่สำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ (1) การวิจัยเชิงปฏิวัติ (revolution research) เพื่อบรรลุการใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียว และ (2) การวิจัยเพื่อปูทางสำหรับการนําเทคโนโลยีไฮโดรเจนไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยของเศรษฐกิจไฮโดรเจนในอนาคตของสิงคโปร์ และเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระบบเศรษฐกิจ
โดยในระยะแรก ศูนย์ CHI จะมุ่งเน้นไปที่ตัวพาไฮโดรเจนสำหรับการจัดเก็บและขนส่งเป็นหลัก รวมไปถึงห่วงโซ่อุปทานไฮโดรเจนทั่วโลก ซึ่งเป็นสาขาการวิจัยที่ค่อนข้างใหม่ แม้ว่าไฮโดรเจนสามารถนําเข้ามาได้ผ่านท่อส่ง แต่สามารถทำได้เฉพาะในระยะทางสั้น ๆ เช่น จากมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ นอกจากการพิจารณาการขนส่งไฮโดรเจนแล้ว ศูนย์ CHI ยังมีเป้าหมายที่จะผลักดันการผลิตไฮโดรเจนในประเทศ เพื่อปกป้องความมั่นคงด้านพลังงานของสิงคโปร์ (ในกรณีที่ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก)
นอกจากแนวทางข้างต้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของเศรษฐกิจไฮโดรเจนในอนาคต ศูนย์ CHI ยังมุ่งเน้นการสร้างกลุ่มบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา โดยกำหนดหลักสูตรสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและนักศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อรองรับการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน ศูนย์ CHI มีหัวหน้านักวิจัย 32 คนและนักศึกษาปริญญาเอก 4 คน และมีแผนที่จะรับสมัครนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านสหวิทยาการ 10 คน รวมทั้งการจัดฝึกอบรมนักศึกษาปริญญาเอก 10 คน
สรุป
ศูนย์ CHI ถือเป็นศูนย์วิจัยไฮโดรเจนแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างระบบนิเวศสำหรับรองรับสังคมคาร์บอนต่ำ โดยเน้นการส่งเสริมความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนาในด้านการผลิต การจัดเก็บ และการขับเคลื่อนโซลูชันที่ใช้ไฮโดรเจน โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการบ่มเพาะกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยในสาขาที่หลากหลายเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและเป็นผู้นําในการปฏิวัติไฮโดรเจนของสิงคโปร์
ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์คาดการณ์ว่า การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนอาจคิดเป็นร้อยละ 50 ของความต้องการพลังงานของสิงคโปร์ภายในปี 2593 จากแผนพัฒนาไฮโดรเจนแห่งชาติ 2022 ไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำจะเป็นทางเลือกหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยการจัดตั้ง CHI เป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลสิงคโปร์ที่จะวางตำแหน่งของสิงคโปร์ให้เป็นผู้นําด้านนวัตกรรมไฮโดรเจนระดับโลก
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์