สิงคโปร์เดินหน้าเพื่อคงความเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค โดยมีความพยายามเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้อยู่ในระดับเดียวกับก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 โดยในปี 2566 สนามบินชางงีมีจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 91 ของปี 2562 และในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ผู้โดยสารที่เดินทางผ่านสนามบินชางงีมีจำนวน 16.5 ล้านราย ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้โดยสารในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 หรือช่วงก่อนโควิด-19 แสดงถึงสัญญาณที่ดีที่จะส่งผลต่อจำนวนเฉลี่ยตลอดทั้งปี
ที่มาภาพ: CHANGI AIRPORT GROUP
Changi Airport Group (CAG) ระบุว่า จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางผ่านสนามบินชางงีกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากคอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลก เช่น Coldplay และ Taylor Swift รวมถึงการยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนในช่วงไตรมาสที่ 1 อย่างไรก็ตาม Sobie Aviation บริษัทที่ปรึกษาการบิน คาดว่าปี 2567 สนามบินชางงีจะรองรับผู้โดยสารราว 65 ล้านราย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 95 ของจำนวนผู้โดยสารในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 68.3 ล้านราย เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวหลักอย่างจีนและญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลง และสายการบิน Jetstar ยังไม่กลับมาทำการบินเท่าช่วงก่อนโควิด นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคด้านกฎระเบียบที่ทำให้ไม่สามารถมีผู้โดยสารเต็มเที่ยวบินในเส้นทางสิงคโปร์-จาการ์ตา และค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ที่แข็งตัวซึ่งส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ โดย Singapore Tourism Board คาดว่าปี 2567 สิงคโปร์จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 15-16 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 79-84 ของปี 2562
กลยุทธ์ของสนามบินชางงีเพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร
CAG วางแผนที่จะร่วมมือกับสนามบินชางงีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในเส้นทางที่ได้รับความนิยมสูง โดยการเพิ่มเที่ยวบินหรือใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น อีกทั้งมองหาเส้นทางบินตรงเพิ่มเติมในอินเดีย เช่น ชัยปุระ ลัคเนา นอกจากนี้ ยังพิจารณาเพิ่มเส้นทางบินตรงระหว่างสิงคโปร์กับเมืองหลวงของมณฑลต่าง ๆ ในจีน เช่น กุ้ยหยาง (เมืองหลวงของมณฑลกุ้ยโจว) และฮาร์บิน (เมืองหลวงของมณฑลเหยหลงเจียง) นอกจากนี้ อาจพิจารณานักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่จากเอเชียกลางและตะวันออกกลาง โดยในระยะยาวสิงคโปร์จะได้ประโยชน์จากความต้องการเดินทางไปยังประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นและสามารถลดการพึ่งพาเส้นทางข้ามทวีปที่มีการแข่งขันสูง
การสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 5 (Terminal 5)
สนามบินชางงีมีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 5 และทางเชื่อมใต้ดิน ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างปี 2568 โดยทางเชื่อมใต้ดิน มีความยาว 2.5 กิโลเมตร ที่เชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสาร 2 กับอาคารผู้โดยสาร 5 หรือที่เรียกว่า T2 Connection (T2C) ซึ่งจะอำนวยความสะดวกการเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสาร 5 และอาคารผู้โดยสารอื่น ๆ อาคารผู้โดยสารแห่งใหม่นี้จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยจะใช้ยานพาหนะอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพื่อการขนส่งสินค้าและการจัดการสัมภาระ คาดว่าจะเปิดใช้งานอาคารผู้โดยสาร 5 ในช่วงกลางปี 2573 โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 50 ล้านรายต่อปี ตัวอาคารฯ จะตั้งอยู่ที่ Changi East Development และยังมี Changi East Urban District ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจและไลฟ์สไตล์
ข้อมูลเพิ่มเติม
ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศของสิงคโปร์อยู่ที่ 475,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 ซึ่งมาจากการขนถ่ายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางอากาศกับจีน
ปัญหาการขาดแคลนแรงงานนับเป็นความท้าทายหลักของสนามบินชางงีทั้งในระยะกลางและระยะยาว การวางแผนเปิดอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่และการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย น่าจะช่วยตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงานและการเป็นสังคมผู้สูงอายุของสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี พนักงานสนามบินจำเป็นต้องมีทักษะที่สูงขึ้นและต้องเรียนรู้งานใหม่ ๆ โดยจะมีการออกแบบหรือกำหนดหน้าที่ใหม่สำหรับพนักงาน นอกจากนี้ สนามบินชางงีมีแผนที่จะเปิดตัวระบบการเดินทางแบบไร้เอกสาร (document-free travel) ภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งการใช้ข้อมูลอัตลักษณ์ที่เก็บโดยระบบไบโอเมทริกซ์ที่ผ่านมาจะทำให้ผู้โดยสารที่เดินทางผ่านสนามบินชางงีไม่จำเป็นต้องแสดงหนังสือเดินทางของตนที่จุดตรวจ ทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
ประเทศไทยกับเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค
สำหรับประเทศไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศวิสัยทัศน์ผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค หรือ Aviation Hub ตั้งเป้าให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดของโลกภายใน 5 ปี ผ่านการขยายขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปีภายใน 2573 โดยมีแผนขยายอาคารผู้โดยสารทางทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก แผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารทางทิศใต้ ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น สำหรับท่าอากาศยานดอนเมือง มีแผนก่อสร้าง Junction Building พื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้า OTOP นอกจากนี้ ยังมีแผนก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 หรือ ท่าอากาศยานอันดามัน ตั้งเป้าให้เป็นฮับการบินภาคใต้เชื่อมเส้นทางระยะไกล (Long-haul Flight) อีกด้วย
ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย (BIC) สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
ที่มา :