ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูงในสิงคโปร์ โดยในปี 2560 สิงคโปร์นำเข้าทุเรียนมากกว่า 43,000 ตัน (หรือประมาณ 10 ล้านลูก) นอกจากการบริโภคทุเรียนสดเเล้ว ในสิงคโปร์ยังมีการผสมผสานทุเรียนกับอาหารหลายประเภท เช่น พิซซ่า หม้อไฟ (steamboat) ก๋วยเตี๋ยวหลอด หรือเเม้เเต่ข้าวผัด ทั้งยังสามารถจับคู่ทุเรียนกับไวน์ขาวเพื่อรสชาติที่ลงตัว โดยล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2564 บริษัท Durian Edition ผู้นำเข้าทุเรียน เเละผู้ผลิตขนมที่มีส่วนผสมของทุเรียนในสิงคโปร์ ร่วมมือกับ 1925 Brewing Co. โรงเบียร์ขนาดเล็ก (Microbrewery) ผลิตคราฟต์เบียร์ (craft Beer) ทุเรียน Musang King Ale ออกวางตลาดเป็นเจ้าเเรกในสิงคโปร์ โดยนำทุเรียนพันธุ์ Musang King มาใช้ในการหมักเบียร์ควบคู่ไปกับฮอปส์ ผลไม้ ข้าวบาร์เลย์ ยีสต์ เเละน้ำ ทั้งนี้ Musang King Ale มีปริมาณเเอลกอฮอล์ 5% มีกลิ่นทุเรียนบาง ๆ กับรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ดื่มง่ายเเละสดชื่น ซึ่งนับเป็นความเเปลกใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยสำหรับผู้ที่หลงใหลในทุเรียน
.
เเม้เนื้อทุเรียนจะได้รับความนิยมอย่างมาก เเต่เปลือกทุเรียนที่รับประทานไม่ได้มักถูกเผาทิ้งจนกลายเป็นมลภาวะต่อสิ่งเเวดล้อม ซึ่งเปลือกทุเรียนมีสัดส่วนประมาณ 60% ของทุเรียนหนึ่งลูก โดยศาสตราจารย์ William Chen ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตร์เเละเทคโนโลยีอาหารที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University – NTU) ให้ข้อมูลว่า เปลือกทุเรียนสามารถเเปรรูปให้เป็นทรัพยากรทางการเเพทย์ที่มีคุณค่าได้ จากกระบวนการหั่นเปลือกทุเรียนเป็นเเว่นเเล้วทำเเห้งเเบบเเช่เยือกเเข็ง (freeze-dried) เพื่อสกัดผงเซลลูโลส (cellulose powder) ออกจากเปลือกทุเรียน จากนั้นนำไปผสมกับกลีเซอรอล (glycerol) เพื่อให้กลายสภาพเป็นไฮโดรเจล (hydrogel) ที่อ่อนนุ่ม เเละในท้ายที่สุดจะถูกตัดเป็นเเผ่นเจลปิดแผล หรือพลาสเตอร์ป้องกันเชื้อเเบคทีเรียชนิดเจล
.
เมื่อเปรียบเทียบกับพลาสเตอร์ปิดเเผลทั่วไป พลาสเตอร์ฯ ชนิดเจลจะช่วยบริเวณเเผลเย็นเเละชุ่มชื้นได้ซึ่งช่วยเร่งการรักษาเเผลให้เร็วขึ้น การผลิตพลาสเตอร์ป้องกันเเบคทีเรียโดยวัสดุเหลือใช้เเละยีสต์สามารถช่วยลดต้นทุนเนื่องจากพลาสเตอร์ป้องกันเเบคทีเรียทั่วไปใช้สารประกอบโลหะที่มีราคาเเพงกว่า เช่น เงิน (silver) หรือ ทองเเดง (copper) ทั้งนี้ พลาสเตอร์ที่ทำจากเจลโดยใช้วัสดุอินทรีย์สามารถย่อยสลายได้ง่ายเเละกระทบต่อสิ่งเเวดล้อมน้อยกว่าพลาสเตอร์สังเคราะห์ทั่วไปอีกด้วย
.
โอกาสผู้ประกอบการไทย
.
ผู้ประกอบการไทยอาจใช้โอกาสนี้ในการศึกษาเเลกเปลี่ยนความรู้ นวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับผลไม้ไทยรวมถึงการนำเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เช่น การนำเปลือกทุเรียนมาเเปรสภาพเป็นพลาสเตอร์เป็นจุดเริ่มต้นการทำวิจัยเพื่อเพิ่มโอกาสของธุรกิจเพื่อความยั่งยืนต่อไป
.
อีกทั้ง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เกิด New Normal ของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น หรือ การเติบโตเพิ่มขึ้นของ Contactless payment ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ส่งออกผลไม้สด ผลไม้แช่แข็ง และผลไม้แปรรูปจากไทยไม่ควรมองข้าม ผู้ประกอบการไทยควรวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันและเลือกช่องทางจัดจำหน่ายให้เหมาะสม เพื่อตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุค COVID-19 อีกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์