ตามที่ในช่วงปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งการเติบโตของภาคเศรษฐกิจและธุรกิจดิจิทัล สิงคโปร์และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีจำนวนบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นเพิ่มขึ้นเกือบ 10 ราย ต่างมีความต้องการจ้างงานด้าน FinTech เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น กระแสการแข่งขันเพื่อดึงดูดบุคลากรในด้านนี้จึงรุนแรงขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้ภาคธุรกิจต้องดำเนินกลยุทธ์การปรับตัวในเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว
.
สถานการณ์ตลาดงานธุรกิจ Fintech ในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.
ธุรกิจ Fintech ได้ถือกำเนิดขึ้นใหม่และเติบโตขึ้นอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการขยายตัวของอุปสงค์สำหรับตำแหน่งงานของอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์กลาง Fintech รายงานอัตราการว่างงานของภาคบริการทางการเงินและเทคโนโลยี สูงถึงร้อยละ 7.7 โดยอุปสงค์แรงงานด้าน Fintech เพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการระดมทุน 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในภาคธุรกิจ FinTech ปี 2564
.
ข้อมูลจากบริษัทจัดหางาน Michael Page ระบุว่าการที่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก สตาร์ทอัพและยูนิคอร์น ต่างแข่งขันกันเพื่อดึงตัวบุคลากรด้าน FinTech มาร่วมงาน ซึ่งบุคลากรในสายงานนี้ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และเวียดนามมีความได้เปรียบในการต่อรองกับนายจ้าง และสามารถขอขึ้นเงินเดือนร้อยละ 15- 20 ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยบุคลากรในสายงานนี้จะทำงานในแต่ละองค์กรประมาณ 5 ปี อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจในปัจจุบันพบว่า บุคลากร FinTech ย้ายไปทำงานกับบริษัทใหม่เพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่จะลาออกจากที่เดิมภายใน 1 – 2 ปี ในขณะที่ 1 ใน 3 จะย้ายไปบริษัทใหม่หลังจากทำงานได้ 3 – 5 ปี
.
ผลกระทบจาก COVID-19 ต่อการจ้างงานและบุคลากรในอุตสาหกรรม Fintech ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.
การทำงานผ่านระบบทางไกลกลายเป็นวิถีใหม่ของการทำงานในช่วงหลัง COVID-19 และทำให้การทำงานแบบข้ามพรมแดนเป็นที่แพร่หลายอย่างยิ่งในภาคธุรกิจ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกลยุทธ์การจ้างงาน และสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัลและ FinTech ก็อาจก่อให้เกิดภาวะสมองไหลได้ เช่น มาเลเซียประสบปัญหาที่แรงงานฝีมือเดินทางไปทำงานในสิงคโปร์มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากอัตราเงินเดือนในสิงคโปร์มากกว่ามาเลเชียถึง 3 เท่า กรณีที่เห็นได้ชัด คือ บริษัท Grab ที่ก่อตั้งในมาเลเซีย แต่ไปตั้งสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ โดยมีพนักงาน 3,000 คน แม้จะยังคงรักษาการจ้างพนักงานในมาเลเซียมากกว่า 1,000 คน แต่อัตราเงินเดือนของสำนักงานใหญ่ของ Grab ที่สิงคโปร์สูงกว่าสำนักงานในมาเลเซียมาก
.
การขยายตัวของการจ้างงานในบริษัท FinTech ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานในภูมิภาค
.
โดยรวม โดยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งในแง่วิธีการทำงาน คือ การทำงานผ่านระบบทางไกล โดยเฉพาะตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นต้องพบปะแบบตัวต่อตัว และในด้านสถานที่ คือ ไม่จำเป็นต้องทำงานในสำนักงาน หรือในประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นจากผลสำรวจโดยสมาคม SFA และบริษัท Accenture ของสิงคโปร์พบว่าภาคเอกชนในสิงคโปร์มากกว่าครึ่งหนึ่งอนุญาตให้พนักงานส่วนใหญ่ทำงานจากนอกประเทศ โดยมีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเปรียบเสมือนหอควบคุมและดูแลพนักงานที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค โดยต่อตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นต้องติดต่อลูกค้าโดยตรง เช่น นักเขียนโปรแกรมและฝ่ายธุรกรรมข้อมูล ในหลายกรณีสามารถจ้างงานแบบ outsource ได้ ส่วนตำแหน่งงานที่มีชั้นความลับหรือมีความจำเป็นต้องพบปะผู้บริหารหรือลูกค้าแบบ onsite เช่น นักพัฒนาซอฟต์แวร์และผู้จัดการธุรกิจ จะยังคงขอให้ทำงานในสิงคโปร์เป็นหลัก
.
จากรายงานของสมาคม SFA และบริษัท Accenture พบว่าภาคเอกชนในสิงคโปร์ลงทุนในการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานน้อยเกินไป โดยร้อยละ 69 ลงทุนในด้านนี้น้อยกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี/คน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยจูงใจให้บุคลากรจะยังทำงานต่อหรือลาออกจากบริษัท ได้แก่ 1) โอกาสในการเติบโต 2) โอกาสในการพัฒนาทักษะ และ 3) ความยืดหยุ่น เช่น การอนุญาตให้ทำงานผ่านระบบทางไกล
.
ด้วยนโยบายที่ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านการค้าระหว่างประเทศ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของภูมิภาค อุปสงค์ต่อแรงงานฝีมือด้านเทคโนโลยีในสิงคโปร์จึงยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปสงค์จากบริษัทข้ามชาติ อย่างไรก็ดี ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 สังคมสิงโปร์ได้เกิดกระแสความห่วงกังวลว่าแรงงานต่างชาติเข้ามาแย่งงานคนสิงคโปร์มากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลสิงคโปร์จึงกำหนดนโยบายการส่งเสริมคนสิงคโปร์ที่มีพรสวรรค์ในด้านเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น และกระตุ้นให้ภาคเอกชนในสิงคโปร์จ้างงานคนชาติสิงคโปร์มากยิ่งขึ้น
.
ในบริบทของประเทศไทย ประเทศไทยได้มีนโยบายการส่งเสริม Workation: work from everywhere ประกอบกับไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานของภูมิภาคในช่วงหลัง COVID-19 โดยเฉพาะการจ้างงานที่ยืดหยุ่นและการทำงานผ่านระบบทางไกล พัฒนาการดังกล่าวจึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวของไทยในการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่มาอยู่ประเทศไทยเพื่อท่องเที่ยวและทำงานไปพร้อมกัน ทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่พบผู้ประกอบการที่คิดโมเดลธุรกิจด้าน “Workation” โดยเฉพาะมากนัก
.
อุตสาหกรรมสตาร์ทอัพด้าน Fintech ในประเทศไทย ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรในหลายตำแหน่ง เช่น วิศวกรซอฟต์แวร์ นักวิเคราะห์ธุรกิจและการลงทุน และผู้มีทักษะภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ บัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศเงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 50,000-60,000 บาท คิดเป็นประมาณ 1,480-1,780 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือคิดเป็น 2 เท่าของค่าจ้างเฉลี่ยในประเทศ ในปี 2564 ที่ประมาณ 27,800 บาท อีกทั้งการที่ธนาคารแบบดั้งเดิมก้าวสู่การเป็นดิจิทัลและบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาคเข้าสู่ตลาดไทย ซึ่งอาจส่งผลให้ฐานเงินเดือนของบุคลากรด้านนี้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์