หนังสือพิมพ์ The Business Times ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการผลักดันนวัตกรรมของสิงคโปร์ โดยเปิดเผยว่า สิงคโปร์ได้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมชั้นนำ โดยเฉพาะด้าน Fintech อันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Fintech ของสิงคโปร์ก้าวสู่ระดับโลกนั้น มาจากการสร้างระบบนิเวศ Fintech โดยมีความร่วมมือระหว่างสามฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ บริษัทเอกชนด้าน Fintech และธนาคาร โดยในปี 2558 ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) ได้เริ่มโครงการ Financial Sector Technology and Innovation Scheme เพื่อดึงดูดบริษัท Fintech ต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในสิงคโปร์ และในปี 2565 บริษัท Fintech ในสิงคโปร์มีจำนวนมากกว่า 1,300 บริษัท มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ อีกทั้งยังมีการแต่งตั้ง Chief Fintech Officer และการจัดทำ sandbox เพื่อส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจ Fintech ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ระบบ Fintech ของสิงคโปร์ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ การจัดทำแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา การค้นคว้าและวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดงานแสดงสินค้าและนวัตกรรมระหว่างประเทศมีส่วนส่งเสริมให้ Fintech สิงคโปร์พัฒนาอย่างรวดเร็วและเชื่อมโยงสู่สากล โดย MAS ได้จัดตั้งหน่วยงาน Elevandi เพื่อบริหารจัดการงานแสดงสินค้าและนวัตกรรมด้านการเงิน รวมทั้งงาน Singapore Fintech Festival (SFF) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเชื่อมโยงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้เกิดการขับเคลื่อนระบบนิเวศ Fintech ของสิงคโปร์ร่วมกัน โดยเมื่อปี 2566 การจัดงาน SFF 2023 ของสิงคโปร์ประสบผลสำเร็จอย่างมาก สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้มากกว่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และบริษัทด้าน Fintech ในสิงคโปร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นสองเท่าอีกด้วย


สิงคโปร์ยังคงมุ่งเป้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้าน Fintech ของโลก โดยกำหนดให้มีการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม Fintech ใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่
(1) ต้นทุนมนุษย์ (Human capital) โดยเร่งสร้างบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย สร้างเครือข่ายกับบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนําของโลกและสถาบันการศึกษาต่างประเทศ เพื่อให้เข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนการเพิ่มทักษะบุคลากร รวมทั้งเป็นช่องทางในการเข้าถึงกลุ่ม Science Technology Engineering Mathematics (STEM) ในตลาดที่มีบุคลากรด้านเทคโนโลยีสูง เช่น อินเดีย จีน และประเทศในเอเชียตะวันออกเชียงใต้
(2) ต้นทุนทางการเงิน (Financial capital) สิงคโปร์มีระบบนิเวศในการระดมทุนที่เข้มแข็ง เนื่องจาก ได้รับความน่าเชื่อถือในตลาดพันธบัตรเอเชีย ทำให้บริษัท Fintech สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีกลุ่มทุน กองทุนเอกชน นักลงทุน กองทุนครอบครัว (family office) และสถาบันการเงินที่มุ่งเน้นการระดมทุนในธุรกิจ Fintech โดยเฉพาะ
ทั้งนี้ ภาครัฐมีบทบาทนําในการขับเคลื่อนระบบนิเวศด้าน Fintech โดยนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลสิงคโปร์ได้ช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับระบบนิเวศ Fintech อย่างมาก โดยในปี 2567 รัฐบาลสิงคโปร์ได้เพิ่มงบประมาณในกองทุนเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถและเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น
(3) การกำหนดกรอบกฎระเบียบ (Regulatory framework) ธนาคารกลางสิงคโปร์ได้กำหนดมาตรการเชิงรุกเพื่อสนับสนุนนวัตกรรม โดยกำหนดกฎระเบียบที่จะส่งเสริมนวัตกรรมให้สอดคล้องกับกฎหมายและความมั่นคงปลอดภัยทาง Fintech ส่วนรัฐบาลสิงคโปร์ได้กำหนดกรอบการกำกับดูแลที่เหมาะสมเพื่อสร้างการเติบโตของสตาร์ทอัปผ่านหน่วยงาน Enterprise Singapore (ESG)
(4) การสร้างหุ้นส่วนในระบบนิเวศ (Partner ecosystem) เป็นการสร้างเครือข่ายหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และความร่วมมือที่ส่งผลให้ธุรกิจ Fintech สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน อาทิ ธนาคารกลาง นักลงทุน สถาบันการเงิน ธุรกิจ e-Commerce และชุมชน Fintech และ
(5) การเข้าถึงตลาด (Market access) แม้ว่าตลาดสิงคโปร์จะมีขนาดเล็ก แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจนวัตกรรม Fintech ก่อนขยายไปสู่ตลาดอื่นต่อไป เศรษฐกิจดิจิทัลที่ไม่มีข้อจํากัดทางภูมิศาสตร์จะช่วยให้ Fintech ของสิงคโปร์สามารถให้บริการในตลาดภูมิภาคอื่น ๆ ได้ เช่น ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา
ปัจจุบัน รัฐบาลสิงคโปร์ประสงค์ที่จะสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อขยายการพัฒนา Fintech สู่ก้าวต่อไป โดยศึกษาเรียนรู้ความสำเร็จของ Fintech ในประเทศต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการสร้าง sandbox ที่เหมาะสมในการเข้าสู่ตลาดในประเทศเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้สตาร์ทอัปสิงคโปร์สามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงกับตลาดต่างประเทศได้ ทั้งนี้ สิงคโปร์ได้ประกาศแผนงบประมาณการพัฒนาการค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และวิสาหกิจ (RIE2025) จำนวน 3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ระยะปี 2564 – 2568 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 1 ของ GDP สิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนการสร้างความร่วมมือในการพัฒนา Fintech ของสิงคโปร์ ซึ่งการแสวงหาความร่วมมือด้าน Fintech ของสิงคโปร์ดังกล่าว นับเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องของไทย เช่น ภาครัฐ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงสตาร์ทอัปด้านนวัตกรรม Fintech
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์