เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 หน่วยงานภาครัฐ Land Transport Authority (TLA) ของสิงคโปร์ ได้เผยแพร่สถิติการจดทะเบียน EVs จำนวน 1,485 คัน จากรถยนต์ทุกประเภท 639,373 คัน โดยเพิ่มขึ้น 268 คัน จากปี 2563 โดยในปัจจุบันสิงคโปร์มีสถานีให้บริการเติมไฟฟ้า EVs จำนวน 168 แห่ง โดยมีจุดจ่ายไฟภายในทุกสถานีฯ รวมกันประมาณ 1,600 จุด ผู้ให้บริการสถานีเติมไฟฟ้า EVs ในสิงคโปร์ ได้แก่ 1) BlueSG: 74 แห่ง 2) SP Group: 44 แห่ง 3) Shell: 18 แห่ง 4) Greenlots: 21 แห่ง 5) Charge+: 7 แห่ง และ 6) Caltex: 4 แห่ง ทั้งนี้ Land Transport Authority ได้สนับสนุนเงิน EV Common Charger Grant เพื่อผลักดันการติดตั้งจุดเติมไฟฟ้า EVs 2,000 จุด ภายในเดือนธันวาคม 2566
.
หลังจากที่นาย Heng swee Keat รองนายกรัฐมนตรี แถลงงบประมาณปี 2563 ว่า รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งเป้ายุติการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปล้วน (Internal Combustion Engine – ICE) ภายในปี 2583 นั้น หน่วยงาน Land Transport Authority ได้จัดตั้งศูนย์ EV แห่งชาติ (National Electric Vehicle Center – NEVC) เพื่อขับเคลื่อนการใช้ EVs ในทันที รวมถึงเร่งติดตั้งสถานีเติมไฟฟ้า EVs และทบทวนกฎระเบียบและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนา ecosystem ในสิงค์โปร์ที่เหมาะสมกับการใช้ EV อย่างครอบคลุม
.
นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์วางแผนการติดตั้งจุดชาร์จ EVs ใน 8 เขตที่พักอาศัย HDB (Eight EV-Ready Towns by 2025) ได้แก่ 1) Ang Mo Kio 2) Bedok 3) Choa Chu Kang 4) Jurong West 5) Punggol 6) Queenstown 7) Sembawang และ 8) Tengah ภายในปี 2568 และวางแผนการติดตั้งจุดชาร์จ EVs ในเขตอื่นทั่วสิงคโปร์ให้พร้อมใช้งานภายในปี 2573
.
หน่วยงาน Land Transport Authority มีนโนบายจะเปลี่ยนรถประจำทางทั้งหมดในสิงคโปร์ให้เป็นประเภทพลังงานสะอาดทั้งหมด โดยเมื่อปี 2563 Land Transport Authority ซื้อรถโดยสารไฟฟ้า (electric bus) จำนวน 60 คัน ซึ่งบางส่วนได้เริ่มใช้งานแล้ว และจะใช้งานเต็มจำนวนภายในปี 2564 ทั้งนี้ รถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 60 คัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซดาร์บอนไดออกไซต์ (CO2) จากท่อไอเสียได้ประมาณ 7,840 ตันต่อปี เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซ CO2 ของรถยนต์ 1,700 คันต่อปี
.
แม้ว่านาย Elon Musk ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Tesla ได้กล่าวใน Twitter ส่วนตัวว่ารัฐบาลสิงคโปร์ไม่สนับสนุนการใช้ EVs เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์ เคยเก็บค่าธรรมเนียมการใช้รถ EV เพิ่มเติมเมื่อปี 2559 แต่หลังจากที่รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศนโยบายส่งเสริมการใช้ EVs อย่างเข้มข้นในช่วงปีที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อเดือน มิถุนายน 2564 Tesla มีแผนจะตั้งสำนักงานที่เขต Toa Payoh สิงคโปร์ ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขจำนวนสั่งซื้อ แต่ผู้ติดตามสถานการณ์ตลาดคาดการณ์ว่าจำนวนสั่งซื้ออยู่ระหว่าง 200 – 500 คัน
.
ตั้งแต่ปี 2562 บริษัทให้บริการรถโดยสารและจัดส่งอาหาร Grab ได้ซื้อ EVs ของ Hyundai จำนวน 200 คันเพื่อปล่อยเช่าให้กับผู้ขับรถ Grab Car ของบริษัท และล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 Grab ร่วมกับ Hyundai Motor Group เปิดตัวโครงการนำร่องใหม่ในสิงค์โปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนามเพื่อสนับสนุนการใช้ EV ในกลุ่มผู้ให้บริการรถโดยสารและจัดส่งอาหาร รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ EVs เช่น การเช่าแบตเตอรี่ และการปล่อยสินเชื่อ EVs สำหรับผู้ให้บริการรถโดยสารของ Grab เป็นต้น เพื่อทดสอบตลาดธุรกิจ EVs ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.
โดยเบื้องต้นบริษัทวิจัยข้อมูล Fitch Solutions ได้เผยแพร่ตัวเลขคาดการณ์ของยอดจำหน่าย EVs ปี 2564 ในสิงคโปร์จะเติบโตร้อยละ 170 โดยจะมียอดขายถึง 475 คัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยระหว่างปี 2564 – 2573 บริษัทฯ คาดว่ายอดจำหน่าย EVs จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 40 ต่อปี ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 7,000 คันต่อปี และคาดว่าจะมี EVs ในสิงคโปร์ 10,000 คัน ภายในปี 2568
.
นอกจากนี้ เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ EVs สิงคโปร์จะเริ่มบังคับใช้ระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste management system) ในเดือนกรกฎาคม 2564 บนพื้นฐานของ Extended Producer Responsibility (EPR) ซึ่งกำหนดให้บริษัทที่นำเข้าและผลิต EVs และแบตเตอรี่ EVs รวบรวมและรีไซเคิลแบตเตอรี่ของตนเมื่อครบอายุการใช้งาน
.
ถึงแม้ว่าสิงคโปร์จะมีความก้าวหน้าทางวิวัตนาการและสามารถพัฒนา ecosystem อย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการใช้งาน EV ในระยะยาว แต่สิงคโปร์ยังมีตลาดซื้อ-ขาย EV ขนาดเล็กเมื่อเทียบกับประเทศไทย ดังนั้น ภาคเอกชนชั้นนำด้าน EV ของโลก จึงสามารถเลือกที่จะมองสิงคโปร์เป็นศูนย์นำร่องด้านการพัฒนาเทคโนโลยี EVs ในภูมิภาคมากกว่า และประเทศไทยยังคงมีโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัท EVs จากต่างประเทศโดยอาจร่วมทุนกันภาคเอกชนไทยเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตและสำนักงานขายในระดับภูมิภาค โดยไทยจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องสาธารณูปโภค กฎระเบียบ และทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสม ซึ่งจะสอดคล้องกับวาระแห่งชาติของไทยในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และเสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว ผ่าน BCG Economy Model ต่อไปในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์