เมื่อเดือนเมษายน 2567 ธนาคารกลางสิงคโปร์ หรือ Monetary Authority of Singapore (MAS) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินของประเทศ ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาทักษะสีเขียว (Green Skills) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนให้บุคลากรในภาคการเงินได้รับการพัฒนาศักยภาพและทักษะใหม่ๆ ที่ เกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งเสริมให้ภาคการเงินของสิงคโปร์เติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยรัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 35 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับการเพิ่มทักษะบุคลากรในภาคบริการทางการเงินมากกว่า 50,000 คน
โครงการพัฒนาทักษะสีเขียว (Green Skills) ของสิงคโปร์เกิดขึ้นท่ามกลางการเติบโตของภาคการเงินที่ยั่งยืน (sustainable finance market) ในอาเซียนซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 4-5 ล้านล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วงทศวรรษหน้า โดยสถาบันการเงินมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น ทั้งนี้ นาย Alvin Tan Minister of State กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กล่าวว่าหากสิงคโปร์จะเป็นศูนย์กลางการเงินที่ยั่งยืนชั้นนำของเอเชีย บุคลากรของสิงคโปร์จะต้องได้รับทักษะใหม่ๆ ภายใน 3 ปีต่อจากนี้ โดยรายงานของ KPMG Singapore ระบุว่ามีประมาณ 20 ตำแหน่งงานของสถาบันการเงินที่ต้องยกระดับ ทักษะ เช่น ผู้จัดการฝ่ายขาย และผู้จัดการด้านความสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังคาดว่าในทศวรรษหน้าจะมีตำแหน่งงานใหม่ด้านการเงินที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้นอีก 4,000-5,000 ตำแหน่ง

สถาบันการศึกษาขยายหลักสูตรการเงินที่ยั่งยืน
ในส่วนของภาคการศึกษาก็ได้ปรับแผนเพื่อรองรับโครงการ Green Skills จาก MAS เช่น Singapore Green Finance Centre ได้ออกแบบหลักสูตรผู้บริหารใหม่มากกว่า 65 หลักสูตรในปี 2567 ซึ่งเปิดตัวโดย Singapore Management University และ Imperial College London รวมถึง Sustainable and Green Finance Institute ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ได้เปิดตัวหลักสูตรออนไลน์ 3 หลักสูตรเกี่ยวกับ การกำกับดูแลความยั่งยืน ตลาดคาร์บอน และการจัดการการลงทุนที่ยั่งยืน โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ประกอบอาชีพ ระดับกลางที่ต้องการเปลี่ยนไปสู่ green finance
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (NTU) และ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ยังได้พัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรีใหม่ 2 หลักสูตรเกี่ยวกับการเงินที่ยั่งยืน นาย Dinesh Babu กรรมการบริหารของ Climate Action Data Trust ที่มีประสบการณ์ในตลาด คาร์บอนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมานานกว่า 30 ปีกล่าวว่าปัจจุบันมีนักศึกษาระดับบัณฑิต จำนวนมากที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนเพราะพวกเขามองว่า environmental impact, social issues and corporate governance หรือ ESG เป็นอาชีพที่มีศักยภาพ

โอกาสของประเทศไทยใน Green Skills
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีการหารือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับประธานและกรรมการของธนาคารพาณิชย์และสมาคมธนาคารไทย ถึงแนวทางการส่งเสริมให้ภาคการเงินมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุน เงินทุนให้ภาคธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม หลายปีที่ผ่านมาสถาบันการเงินในไทยมีความตื่นตัวในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) เพื่อสนับสนุนธุรกิจในโลกใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนเงินทุนให้ภาคธุรกิจ สามารถปรับตัวและเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งในแง่การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรหรือ กระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษและการลงทุนเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมโดยตั้งเป้าหมายว่าแต่ละธนาคารจะสามารถออกผลิตภัณฑ์ สำหรับกลุ่มลูกค้าที่พร้อมปรับตัวได้ในช่วงต้นไตรมาส 3 ของปี 2567 และคาดหวังว่าความร่วมมือของภาคการเงินในโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจในวงกว้างเกิดการปรับตัวต่อไป
ข้อมูลและเรียบเรียง : ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์