เมื่อปี 2456 รัฐบาลเมืองสิงคโปร์ ได้ยกระดับคณะกรรมการ Tanjong Pagar Dock Board ขึ้นเป็นคณะกรรมการอ่าวสิงคโปร์ (Singapore Harbour Board – SHB) เพื่อกำกับดูแลและพัฒนากิจการท่าเรือในสิงคโปร์ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2507 SHB ได้พัฒนาเป็นการท่าเรือแห่งสิงคโปร์ (Port of Singapore Authority – PSA) เป็นหน่วยงานของรัฐบาลในด้านกิจการท่าเรือและการพัฒนาท่าเรือทั่วชายฝั่งโดยรอบสิงคโปร์ เมื่อปี 2531 สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองท่าเรือที่มีความคึกคักที่สุดในโลก (busiest shipping port) และเป็นท่าเรือสินค้า (Container Port) และท่าเรือบังเกอร์ (Bunkering Port) ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากนครเซี่ยงไฮ้) และตั้งแต่ปี 2537 PSA Singapore Terminals มีปริมาณการขนส่งสินค้ามากที่สุดในโลก รวมกว่า 5 ล้านหน่วย TEUs (Twenty-foot Equivalent Units)
.
การขยายธุรกิจท่าเรือของ PSA ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยมีกิจการท่าเรือและความร่วมมือกับต่างประเทศในเชิงพาณิชย์เป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2540 รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้เปลี่ยนสถานะ PSA เป็นบริษัทเอกชนในชื่อ PSA Corporation Ltd. และจัดตั้งหน่วยงานกรมเจ้าท่าสิงคโปร์ (Maritime and Port Authority of Singapore – MPA) เพื่อบริหารราชการเกี่ยวกับกิจการทะเลและกฎระเบียบด้านทะเลของสิงคโปร์สืบแทน PSA
.
การบริหารกิจการท่าเรือในต่างประเทศของ PSA International
.
ปัจจุบัน PSA International เป็นบริษัทในเครือ Temasek Holdings และเป็นบริษัทท่าเรือข้ามชาติที่มีรายได้สูงสุดอันดับ 1 ของโลก ประจำปี 2563 จากการจัดอันดับของ Lloyd’s List มีมูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณ 23,372 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ผลประกอบการประจำปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้ 4,179 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นกำไรสุทธิ 1,168 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ลดลงร้อยละ -6.2 จากปีก่อนหน้า
.
ลักษณะการดำเนินธุรกิจของ PSA International มีทั้งการลงทุนโดยตรงและการร่วมทุนในลักษณะ joint venture กับการท่าเรือต่างประเทศ หรือบริษัทท่าเรือของต่างประเทศ เป้าหมายสำคัญของบริษัทฯ คือ ผลประโยชน์ทางธุรกิจด้านการเดินเรือบรรทุกสินค้าและการพัฒนาท่าเรือสินค้าของ PSA International ให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าภายในประเทศและภูมิภาค รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อในการขนส่งลำเลียงสินค้าระหว่างภูมิภาค ทั้งนี้ ทวีปอเมริกาเป็นภูมิภาคล่าสุดที่ PSA International เริ่มไปลงทุนเมื่อปี 2550 ในโครงการพัฒนาฐานทัพเรือเก่าของสหรัฐฯ Rodman Naval Base ในคลองปานามาให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัย
.
นอกจากการบริหารจัดการท่าเรือน้ำลึกในต่างประเทศแล้ว PSA International ยังได้ร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบกในต่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงกับท่าเรือ อันเป็นประโยชน์ต่อการกระจายและลำเลียงสินค้าอย่างครบวงจร โดยเฉพาะในจีน PSA International ได้ร่วมมือกับวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ในโครงการ China United International Rail Containers (CUIRC) เพื่อพัฒนาเส้นทางรถไฟ และจัดตั้งศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถไฟ 12 แห่งทั่วประเทศจีน
.
ผลกระทบจาก COVID-19 ต่อ PSA ในการบริหารจัดการท่าเรือ
.
อุตสาหกรรมการเดินเรือสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าหรือหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกจากวิกฤติการณ์ COVID-19 จำนวนเรือพาณิชย์ที่จอดเทียบท่าเพิ่มมากขึ้นและปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาทั้งในสิงคโปร์และหลายประเทศทั่วโลก เรือบรรทุกสินค้าที่จอดเทียบท่าในท่าเรือสิงคโปร์ระยะเวลามากกว่า 2 วันโดยเฉลี่ยมีมากถึง 46 ลำต่อวันในเดือนมกราคม 2564 และเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 52 ลำต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 60 จากช่วงเดียวกันของปี 2563
.
PSA ปรับตัวต่อวิกฤติการณ์นี้โดยการเพิ่มทรัพยากรและขีดความสามารถเพื่อรองรับกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นที่ท่าเรือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าที่สำคัญของโลก ทีม PSA Cargo Solutions เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (PSA Cargo Solutions Southeast Asia – PCSS) ได้เริ่มแผนบริการเสริม เช่น วิธีการขนถ่ายสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์และการส่งสินค้าไปสู่โรงงานการผลิตอย่างเร่งด่วนสำหรับสินค้าที่มีการจำกัดในเรื่องของเวลา หรือการอำนวยความสะดวกให้เจ้าของสินค้าสามารถวางแผนการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพโดยการตรวจสอบสถานะของเรือขนส่งสินค้า ตู้สินค้า ได้ Real-time ผ่านโปรแกรม CALISTA P!NG ซึ่งพัฒนาโดย Global eTrade Services (GeTS) บริษัทแพลตฟอร์มการค้าชั้นนำระดับโลก ใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญด้านโดเมน G2B และ B2B
.
การขนส่งทางเรือจัดว่าเป็นอีกปัจจัยสำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในจุดภูมิรัฐศาสตร์ที่อยู่ใจกลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้ควรเรียนรู้และศึกษาวิธีการเพิ่มทรัพยากรและขีดความสามารถเพื่อรองรับกิจกรรมทางการเดินเรือ ที่อาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคตในช่วงยุคหลัง COVID-19 ที่แต่ละประเทศเริ่มดำเนินนโยบายเปิดประเทศ และเริ่มมีแนวโน้มของการส่งออกสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น หรือผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาร่วมลงทุนในเชิงโครงสร้างกับบริษัทในสิงคโปร์เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมนี้ต่อไปในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์