เมื่อวันที่ 16 – 18 มิถุนายน 2566 สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ได้ร่วมกับสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย (Thai Film Director Associations – TFDA) และโรงภาพยนตร์ Cinematheque Passion สังกัดกระทรวงกิจการวัฒนธรรม (Cultural Affairs Bureau) เขตบริหารพิเศษมาเก๊า จัดกิจกรรมส่งเสริมภาพยนตร์ไทยภายใต้ชื่องาน “Sawasdee Cinematheque” ณ โรงภาพยนตร์ Cinematheque Passion เพื่อประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าและศักยภาพของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ส่งเสริมความร่วมมือด้านภาพยนตร์และสร้างเครือข่ายระหว่างบุคลากรใน อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยและมาเก๊า
ภายในงานมีการฉายภาพยนตร์ไทย ๒ เรื่อง ประกอบด้วยเรื่อง “Blue Again” กํากับโดย น.ส. ฐาปณี หนูสุวรรณ และ “เธอกับฉันกับฉัน” กํากับโดย น.ส. วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ และ น.ส. แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ จากบริษัท GDH599 งานนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายกับบุคคลในวงการภาพยนตร์ วงการศิลปะ ภาควิชาการและสื่อมวลชนมาเก๊า รวมถึงมีการเสวนาหลังการฉายหนังอีกด้วย ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นการจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมไทยในมาเก๊าครั้งแรกในรอบหลายปีอีกด้วย
อุตสาหกรรมภาพยนตร์มาเก๊าเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดเล็ก ที่ผลิตภาพยนตร์ออกมาปีละประมาณ 2-3 เรื่อง ซึ่งส่วนมากฉายในเมืองและบางเรื่องออกไปฉายในฮ่องกง และมีโรงภาพยนตร์พาณิชย์ประมาณ 4-5 แห่งเท่านั้น อีกทั้งมาเก๊ายังขาดสถาบันด้านภาพยนตร์และบุคลากรในอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันทางรัฐบาลพึ่งได้ออกแผน Hong Kong-Asian Film Collaboration Funding Scheme ผ่านการให้เงินสนับสนุนสูงถึง 1.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่ามาเก๊าจะเป็นตลาดขนาดเล็ก แต่มาเก๊ามีทุนและเครือข่ายความร่วมมือและการร่วมทุนผลิตภาพยนตร์กับจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงอย่างใกล้ชิด ผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยจึงมีโอกาสที่จะสามารถผลิตภาพยนตร์ร่วมกับจีน/ฮ่องกง และมาเก๊าได้ รวมทั้งไทยยังมีชื่อเสียงในด้านกระบวนการหลังผลิตภาพยนตร์ (post production) ด้านการส่งออก ภาพยนตร์ไทยยังมีโอกาสที่มาเก๊าอย่างต่อเนื่อง ด้วยกระแสความนิยมภาพยนตร์ไทยทั่วโลกทําให้มาเก๊าสนใจและเชื่อมั่นในคุณภาพของภาพยนตร์ไทย
งาน Sawasdee Cinematheque ยังได้ปรากฏอยู่ในบทความ “Reel Winners” จากสำนักข่าว China Daily (Hong Kong) เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 โดยบทความได้กล่าวถึงความนิยมในตัวหนังและนักแสดงของเรื่อง “เธอกับฉันกับฉัน” ที่เกี่ยวกับรักแรกและการเติบโต ซึ่งคนดูสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ง่าย อีกทั้งเรื่องนี้ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในเทศกาลหนังในหลายแห่งทั่วโลกอีกด้วย นอกจากนี้บทความยังได้กล่าวถึงนายจาตุรนต์ ไชยะคำ กงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ที่ได้กล่าวว่าภาพยนตร์เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สามารถส่งเสริมประเทศไทยไปสู่สายตาทั่วโลกได้ ควบคู่ไปกับด้านอาหารและวัฒนธรรม
คณะผู้กำกับและผู้ผลิตภาพยนตร์ไทย (นําโดยคุณโต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับชื่อดังจากบริษัท GDH599) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับทิศทางอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ว่าไทยต้องปรับตัวเข้ากับพฤติกรรมการดูภาพยนตร์ ของคนที่เปลี่ยนไปหลังจากโควิด-19 และ streaming platform ที่เกิดขึ้นใหม่จํานวนมาก เป็นโอกาสของไทยที่จะเร่งสร้างภาพยนตร์และ content ออกมาให้มากและหลากหลายยิ่งขึ้น และมองว่าแนวภาพยนตร์สยองขวัญ เป็นแนวที่ทั้งไทยและมาเก๊ามีความถนัด ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การร่วมมือกันได้ในอนาคต
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม https://www.chinadailyhk.com/article/340757